มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำนาฏศิลป์ 4 ภาค มหรสพ การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน
การประกวด ตลอดจนกิจกรรมทางวิชาการ และการจำหน่ายสินค้าราคาถูก มาจัดในงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 210
กรกฎาคม 2545 รวม 9 วัน 9 คืน โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด
และนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน
นายสมบูรณ์ ธนะสุข โครงการจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่า
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยมี
วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ให้คงอยู่และปรากฏแก่สายตาประชาชนทั่วไป และเพื่อป้องกัน
การเสื่อมสลายของศิลปะการแสดงและดนตรีพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ตลอดจนเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในศิลปะมรดกให้แก่ประชาชน
ในท้องถิ่น การจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 2 10 กรกฎาคม 2545 ประกอบด้วยการแสดงนาฏศิลป์ 4 ภาค
นิทรรศการทางวิชาการ การสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การออกร้านและนิทรรศการของส่วน
ราชการต่าง ๆ จำหน่ายของที่ระลึกของทุกภาค การประกวดไก่แจ้ การแข่งขันนกกรงหัวจุก การแสดงดนตรี มหรสพ และกิจกรรมทางด้าน
ศิลปวัฒนธรรมอีกมากมาย
รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงานว่ามหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญ
ในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม เพื่อสืบสาน
มรดกทางวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด
นอกจากนี้การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติถือว่าเป็นภารกิจหนึ่งในสี่ภารกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหน้าที่
หลักของสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนาที่จะต้องส่งเสริม อนุรักษ์ ทำนุบำรุง สืบสาน ถ่ายทอดไปสู่เยาวชนของชาติพื่อการสืบสานสืบไป
วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตแห่งมนุษย์ ศิลปะคือสิ่งสวยงามที่มนุษย์ต้องการ วิถีชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความสวยงามอันล้ำค่าคือสิ่งบ่งบอก
ความเป็นผู้มีรสนิยมและความมีจิตใจสูงของมนุษย์ โดยเฉพาะของประชาชนคนไทยที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด ผมขอร่วมแสดงความยินดี
ต่อการจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมครั้งนี้ เป็นการจัดงานที่ส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งสำคัญยิ่งของชาติ
นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับผู้ร่วมในพิธีเปิดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมว่า ในฐานะที่เป็น
ตัวแทนของรัฐบาลที่คอยควบคุมดูแลการบริหารงานภาครัฐให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รู้สึกยินดี ภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติงานในจังหวัดปัตตานี
ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ผู้ศึกษาประวัติจังหวัดปัตตานีย่อมทราบดีว่า จังหวัดปัตตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าขาย
แลกเปลี่ยนสินค้าในภูมิภาคเอเซีย สถานที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางการติดต่อ ย่อมเป็นแหล่งพักพิงของคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ภาษา วัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี นั่นคือที่มาของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี การจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ เพื่อให้ชาวไทย
และชาวโลกรับรู้ สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการคงไว้ซึ่งทุนทางสังคมอันประมาณค่ามิได้ของความหลากหลายของวัฒนธรรมซึ่ง
ดำเนินมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การจัดงานของสถาบันที่จัดต่อเนื่องกันมาปีนี้เป็นปีที่ 10 แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของสถาบันที่ต้องการอนุรักษ์
สืบค้น เผยแพร่วัฒนธรรมของจังหวัดและของภาคใต้ให้คงอยู่เป็นทุนที่จะชักนำให้นักท่องเที่ยวได้มาศึกษามาเที่ยวจังหวัดปัตตานี กิจกรรมที่จัดนี้
ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่จังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายหลักของจังหวัดปัตตานี ซึ่งนับแต่ผมได้มาบริหารงานในจังหวัด ผมได้จัด
กิจกรรมที่มีอยู่เดิมให้ยิ่งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดปัตตานีและต่างจังหวัดมาเที่ยว มาสัมผัส แล้วนำความรู้สึกที่ดีเหล่านั้นไปบอกต่อเพื่อให้
คนที่ได้รับข่าวในทางไม่ดีได้เข้าใจข้อเท็จจริงที่แท้จริงแล้วมาเที่ยว กิจกรรมที่ดำเนินการมานับจากการจัดการแข่งขันกีฬาโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ
งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนในภาคใต้ งานแสดง แสง สี เสียงเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว งานกาชาด รวมทั้งการออกกำลังไท้เก๊กชี่กง ซึ่งจัดต่อเนื่อง
ทุกเดือน สมกับคำกล่าวที่ว่า "เที่ยวปัตตานี เที่ยวได้ทุกเดือน" ผมขอย้ำถึงความภาคภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติงานในจังหวัดที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย
และผมเชื่อว่าประชาชนชาวปัตตานีทุกคนคงภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน ขอให้การจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของสถาบันคงอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยและ
จังหวัดปัตตานีต่อไป และผมหวังว่าครั้งต่อไปคงจะเห็นกิจกรรมวัฒนธรรมที่หลากหลายมากกว่านี้ มีประชาชน กลุ่มบุคคลเขัามาร่วมเพิ่มมาก
ขึ้นทุกปี
ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสรรสร้าง จรรโลง อนุรักษ์ พัฒนาศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีให้
คงอยู่ตลอดไป จังหวัดปัตตานีถือเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า สังคมที่มีความ
หลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นสังคมที่เจริญ
*******************************
|