ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 60 ปี ประเทศไทยได้ประกาศใช้ ยกเลิก และ
แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้งตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ของบ้านเมือง จน
ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 16 ขึ้น นับเป็นรัฐธรรมนูญ
ฉบับประชาชน สถาบันสมุทรรัฐเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของ
รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่อง
ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และเพื่อสนองความต้องการการรับรู้
ของประชาชน จึงได้ทำโครงการแปลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 16 เป็น
ภาษามลายูขึ้น ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากการทำประชาพิจารณ์เพื่อรณรงค์การปฏิรูปการ
เมือง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามที่ใช้ภาษามลายู
เป็นหลัก ได้เข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและรับทราบถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่
เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่เสรีภาพที่ทัดเทียมกันของ
ประชาชนในทุกระดับชั้น เชื้อชาติ ศาสนา นอกจากนี้ยังเป็นการเผยแพร่เนื้อหาของรัฐ
ธรรมนูญฉบับประชาชนแก่นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนในกลุ่มประเทศเอเซีย
ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไนดารุสลาม ประกอบกับ
สร้างองค์กรเอกชนในแต่ละชุมชนให้มีความเข้มแข็ง จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐเป็นอย่างมาก
โดยก่อให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีซึ่งกันและกัน ส่งเสริมเกื้อกูลในการดำเนินนโยบาย
ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมวิทยา และการทหาร บรรลุตามความมุ่งหมาย
ที่กำหนดไว้อันนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยและมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร. ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเซีย
ตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เปิดเผยว่าการ
จัดโครงการอบรมผู้นำชุมชนเผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่
10 เมษายน ที่ผ่านมา ให้กับชาวไทยมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมส่งเสริม
ผู้นำชุมชนไทยมุสลิมให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย และเป็นที่ปรึกษาของประชาชน
ในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของ
ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทหน้าที่
ของความเป็นชนชาติไทยในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ผู้เข้าอบรมประกอบด้วย
ผู้นำชุมชนไทยมุสลิมจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล จำนวน
100 คน
ผศ.ดร. อนันต์ ทิพยรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมว่า การจัดอบรมผู้นำชุมชน
เผยแพร่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นหน้าที่โดยตรงของโครงการจัดตั้งสถาบัน
สมุทรรัฐเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่ต้องเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและบริการ
วิชาการแก่ชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามการสร้างความเข้าใจในกลุ่มประชาชนทุกคนย่อม
มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะพื้นที่ห้าจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ซึ่งมีความเข้าใจทางด้านภาษาไทย
น้อย เพราะใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันคลาดเคลื่อนไปบ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อการปกครอง การ
พัฒนาสังคมในระบอบประชาธิปไตยในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
*************************
|