รายละเอียด :
|
ในช่วงการเดินทางไปเยือนถิ่นพุทธภูมิ (ราชอาณาจักรเนปาล) วันที่ 19-26 มีนาคม
2545 รองศาสตราจารย์ ดร. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาเขตปัตตานี
ได้มีโอกาสไปเยือนและศึกษางานที่มหาวิทยาลัย 2 แห่งในประเทศนั้นคือ Kathmandu University
และ Tribhuvan University โดยได้ไปเยือน Kathmandu University เมื่อวันที่ 20 มีนาคม
2547 และ Tribhuvan University เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 เรื่องที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัย
2 แห่งคือ
1. มหาวิทยาลัย 2 แห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือเป็น "Non profit,
non government university" ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อไปสู่
สถานภาพดังกล่าวอยู่ในขณะนี้
2. มหาวิทยาลัย 2 แห่ง มีกลยุทธ์ในการบริหารงานภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ
และกำลังคน ในขณะที่ความต้องการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประชากรมีเพิ่มมากขึ้น ได้อย่าง
น่าสนใจ
3. เดิมราชอาณาจักรมีมหาวิทยาลัยเพียง 1 แห่ง คือ Tribhuvan University ซึ่ง
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) มหาวิทยาลัยตรีภูวันนี้จะดูแลเรื่องอุดมศึกษาทั้งประเทศ มี
วิทยาลัยและสถาบันเฉพาะทางต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่จะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยตรีภูวันนี้
ทั้งสิ้น ปัจจุบันรัฐบาลเนปาลมีนโยบายให้ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ได้ จึงเริ่มมีมหาวิทยาลัยใหม่อีก
2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยกาฎมานฑุ และมหาวิทยาลัยสันสกฤต (Sanskrit University)
มหาวิทยาลัยกาฎมานฑุ (Kathmandu University) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528
(ค.ศ. 1985) ตั้งอยู่ที่เมือง Dhulikhel นอกกรุงกาฎมานฑุ (แต่ยังอยู่ในเขตปริมณฑลของที่ราบ
กาฎมานฑุ) มหาวิทยาลัยแห่งนี้เริ่มต้นด้วยการบริจาคที่ดินและเงินทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
เนปาล
การบริจาคจากภายในประเทศ ประกอบด้วย
* รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเนปาล
* คณะกรรมาธิการอุดมศึกษาแห่งชาติ
* เทศบาลเมือง Dhulikhel and Banepa
* กองทุนมรดกตระกูล Rana Bahadur Shah
* กองทุนมรดกตระกูล Mohan Gopal Khetan
* หอการค้าแห่งราชอาณาจักรเนปาล
การบริจาคจากภายนอกประเทศ
* United Mission of Nepal (UMN)
* Yamaji Fumiko Culture Foundation, Japan
* Swiss Development Cooperation
* NORAD/NHAM (จากนอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์)
* German Technological Development Agency (GTZ)
* DANIDA (เดนมาร์ค)
* Royal Danish Embassy, Kathmandu
และยังมีผู้บริจาครายย่อยอื่น ๆ จนทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีเงินทุนเพื่อนำดอกผลมาใช้ในการบริหาร
งานมหาวิทยาลัยและมีที่ดิน (จากการบริจาค) เป็นจำนวนมาก และในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยกาฎมานฑุ
ได้รับงบประมาณในรูปเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเนปาลเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
การบริหารงานของมหาวิทยาลัยกาฎมานฑุ จะมีสภามหาวิทยาลัย (University Senate)
โดยนายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาและการกีฬา เป็น
อุปนายกสภา มีกรรมการสภาจากภายนอกซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาและการกีฬา ปลัด
กระทรวงการคลัง นายกเทศมนตรีเมือง Dhulikhel and Banepa เลขาธิการสภาการวางแผน
แห่งชาติ
กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้าน
อุตสาหกรรม 1 คน ผู้แทนคณาจารย์ 2 คน ตัวแทนนักศึกษา 1 คน ผู้แทนจากตระกูล Rana
(ผู้บริจาคที่ดินและทรัพย์สิน) 1 คน ผู้แทนจากตระกูล Rajendra Khetan (ผู้บริจาคที่ดินและ
ทรัพย์สิน) 1 คน อธิการบดี เลขาธิการ คณบดีคณะต่าง ๆ อีก 8 คน
ถัดจากสภามหาวิทยาลัย จะมีคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (University Executive
Committee) จำนวน 5 คน ประกอบด้วยอธิการบดี (Vice Chancellor) เป็นประธาน เลขาธิการ
(Registrar) ผู้แทนคณาจารย์ 1 คน และผู้แทนคณบดี จำนวน 2 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ นี้
ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยกาฎมานฑุจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก
6 คณะคือ คณะวิทยาศาสตร์ (School of Science) คณะการจัดการ (School of Management)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ (School of Engineering) คณะศิลปศาสตร์ (Faculty of Arts) คณะ
ศึกษาศาสตร์ (School of Education) และคณะแพทยศาสตร์ (School of Medical Science)
นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาสมทบ (Affiliated Colleges / Institutions) อีก 7 แห่ง
มหาวิทยาลัยกาฎมานฑุมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยภายนอกประเทศ
หลายแห่ง ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย นอร์เวย์ แคนาดา
ออสเตรีย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินเดีย ญี่ปุ่น สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัย
กาฎมานฑุมีความร่วมมือทางวิชาการด้วยคือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
สำหรับมหาวิทยาลัยตรีภูวัน (Tribhuvan University) นั้น เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่
ที่สุดในเนปาล สถาปนาขึ้นโดยใช้พระปรมาภิไธยกษัตริย์ตรีภูวัน (ผู้ทรงสถาปนาระบอบประชาธิปไตย
ขึ้นในราชอาณาจักรเนปาล) เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่
เมืองกิร์ติปุระ (Kirtipur) ซึ่งเป็นเขตปริมณฑลหนึ่งของกรุงกาฎมานฑุ มหาวิทยาลัยตรีภูวันเป็น
มหาวิทยาลัยของรัฐบาล แต่มีอิสระในการบริหารดำเนินงาน (Government Autonomous
Institution) งบประมาณส่วนใหญ่ยังคงได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล มหาวิทยาลัยมีสภาต่าง ๆ
ถึง 4 สภา
1. สภามหาวิทยาลัย (University Council)
2. สภาบริหาร (Executive Council)
3. สภาวิชาการ (Academic Council)
4. สภาการวางแผน (Planning Council)
สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่กำหนดหรืออนุมัตินโยบายหลักของมหาวิทยาลัย สภาบริหารมี
หน้าที่นำนโยบายจากสภามหาวิทยาลัยไปดำเนินารให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยจะจัดให้มีคณะกรรมการ
ชุดพิเศษหรือคณะทำงานชุดต่าง ๆ รับช่วงไปดำเนินการก็ได้ (ตามความเหมาะสม) สภาวิชาการจะ
เน้นการบริหารหลักสูตร การเรียนการสอน การสอบไล่ และการวิจัย สภาการวางแผนจะดูแลเรื่อง
งบประมาณ การเงินการคลัง การรับบริจาค การจัดหารายได้ การดูแลจัดการทรัพย์สินของ
มหาวิทยาลัย และการขยาย / การจัดตั้งหน่วยงานของมหาวิทยาลัย
เนื่องจากมหาวิทยาลัยตรีภูวัน มีหน้าที่ดูแลการอุดมศึกษาของประเทศมาตั้งแต่แรกตั้ง
จึงมีวิทยาลัย / ศูนย์ / สำนัก และสถาบันสมทบกระจายอยู่ทั่วประเทศ จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับ
อนุปริญญาจนถึงระดับปริญญาเอก มีนักศึกษาทุกระดับรวมประมาณ 20,000 คน (ไม่นับรวม
ในสถาบันสมทบอีกหลายหมื่นคน) ประกอบด้วยสถาบันและคณะต่าง ๆ ดังนี้
1. สถาบันเทคนิค (Technical Institute) มี 5 แห่ง แต่ละแห่งจะมีคณบดี (Dean)
เป็นผู้บริหารสถาบัน เน้นระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี
2. สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Institute of Science and Technology)
จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก
3. สถาบันวิศวกรรมศาสตร์ (Institute of Engineering) มีฐานอยู่ 4 แห่งคือที่
Lalitpur, Kathmandu, Dharan และที่ Pokhara (โดยมีคณบดีคนเดียวดูแลทั้ง 4 แห่ง)
จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก
4. สถาบันแพทยศาสตร์ (Institute of Medicine) เช่นเดียวกับสถาบันวิศวกรรม
ศาสตร์ สถาบันแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยตรีภูวัน จะมีโรงพยาบาล, ศูนย์, ภาควิชา กระจาย
อยู่ทั่วประเทศ (ภายใต้คณบดีสถาบันเพียงคนเดียว) ดูแลการให้การศึกษา การบริการ และการวิจัย
ในสาขาการแพทย์ พยาบาล และสาขา Ayurved
5. สถาบันวนศาสตร์ (Institute of Forestry) จัดการศึกษาระดับอนุปริญญาและ
ปริญญาตรีทางด้านวนศาสตร์ งานเด่นจะอยู่ที่การวิจัยและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของ
ประเทศ
6. สถาบันเกษตรและสัตยศาสตร์ (Institute of Agriculture and Animal
Sciences) จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาเกษตรศาสตร์, สัตยแพทยศาสตร์, สัตวศาสตร์
และปริญญาโทในสาขาเกษตรและสัตวศาสตร์
7. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Faculty of Humanities and Social
Sciences) จัดการศึกษาในสาขาทางด้านภาษา ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
สังคมวิทยา มานุษยวิทยา บรรณารักษศาสตร์ วารสารศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา
เคหะศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก
ที่น่าสนใจคือ คณะฯ มี International Language Campus ในกรุงกาฎมานฑุ สอน
วิชาภาษาต่าง เช่น ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย ภาษาธิเบต สันสกฤต และภาษาเนปาล
(Nepal Bhasa)
8. คณะการจัดการ (Faculty of Management) จัดการศึกษาในสาขา Business
Studies, Travel and Tourism, Hotel Management, Business Administration,
Public Administration, Information Management
9. คณะนิติศาสตร์ (Faculty of Law) จัดการศึกษา 3 ระดับคือ LL.B. (3 ปี)
และ LL.M. (2 ปี) คณะนี้ตั้งอยู่ที่กรุงกาฎมานฑุ และการอบรมวิชากฎหมายให้ประชาชนโดยตลอด
และได้เปิดสอนระดับปริญญาเอก (Ph.D.) เมื่อปี 2539 (ค.ศ. 1996)
10. คณะศึกษาศาสตร์ (Faculty of Education) จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับ
ประกาศนียบัตร / อนุปริญญา จนถึงปริญญาเอก และเป็นศูนย์ในการจัดอบรมครูประจำการทั่ว
ประเทศ ตลอดจนทำหน้าที่ในด้านการกำกับคุรุจรรยาและประกาศนียบัตรวิชาชีพของประเทศด้วย
11. วิทยาเขตและวิทยาเขตสมทบ (Constituent and Affiliated Campus)
มหาวิทยาลัยตรีภูวันมีวิทยาเขตที่เรียกว่า Constituent Campus 61 แห่ง และวิทยาเขตสมทบ
(Affiliated Campus) 177 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่ทางด้านการสอน การให้
บริการทางวิชาการ และเป็นฐานการวิจัยของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้แล้วมหาวิทยาลัยตรีภูวันยังมี
ศูนย์วิจัยและศูนย์ศึกษาเฉพาะทาง (Research Centers) อีกหลายศูนย์ ที่น่าสนใจได้แก่
1. ศูนย์เศรษฐศาสตร์พัฒนาและการบริหาร (Centre for Economic Development
and Administration)
2. ศูนย์เนปาลและเอเชียศึกษา (Centre for Nepal and Asian Studies)
3. ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี (Research Centre for Applied
Science and Technology)
4. ศูนย์วิจัยนวัตกรรมศึกษาและการพัฒนา (Research Centre for Educational
Innovation and Development)
5. ศูนย์วิเทศสัมพันธ์ (Centre for International Relations) ความร่วมมือกับ
มหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ
มหาวิทยาลัยตรีภูวันได้มีความร่วมมือทางด้านวิชาการ กึ่งวิชาการ และความร่วมมือทาง
ด้านอื่น ๆ กับมหาวิทยาลัย 66 แห่ง จาก 24 ประเทศในทุกภูมิภาคของโลก เฉพาะประเทศไทย
มหาวิทยาลัยตรีภูวันมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย
รามคำแหง และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยตรีภูวัน (Prof. Naveen Prakash Jung Shah) ได้ปรารภ
ว่าถ้าจะมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยตรีภูวันและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
*************************
|