"โขน" เป็นมหานาฏกรรมที่เก่าแก่ดังหลักฐานที่ปรากฏราวพุทธศตวรรษที่ 18 นิยมแสดง
เรื่องรามเกียรติ์แต่เพียงเรื่องเดียว โดยประเทศไทยได้รับอิทธิพลเรื่องรามเกียรติ์มาจากประเทศอินเดีย
และได้นำมาปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมตามความเชื่อแบบไทย จึงทำให้ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนเรื่องของการกำเนิดโขนท่านผู้รู้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการเล่น 3 อย่างคือ ชักนาค
ดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง และหนังใหญ่ เมื่อการละเล่น 3 อย่างมารวมกันจึงเกิดเป็นศิลปะการแสดง
โขนขึ้นและมีวิวัฒนาการตามลำดับคือ โขนกลางแปลง โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ
และโขนฉาก ซึ่งในการแสดงโขนนั้นจำเป็นต้องใช้วงดนตรีไทยที่เรียกว่า "วงปี่พาทย์" เข้าร่วมบรรเลง
ประกอบการแสดง นอกจากนี้ยังมีผู้พูดแทนตัวโขนเรียกว่า "คนพากษ์ คนเจรจา" ร่วมด้วย
สำหรับในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เริ่มมีการจัดการแสดงโขนตั้งแต่
ปี 2524 โดยแสดงตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉาเพียงตอนเดียว ต่อมาในปี 2525 คณะมนุษย
ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่า จึงได้จัดให้มีการแสดงโขนชุดใหญ่
ตอนสุครีพถอนต้นรัง ซึ่งจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังคงจัดการแสดงโขนเป็นประจำ
ทุกปี โดยมีอาจารย์ผู้ฝึกสอนคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย พูลพิพัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้แสดงประกอบด้วยนักศึกษาวิชาเอก - โทศิลปะการแสดง และ
นักศึกษาที่ได้ลงเรียนในวิชาดังกล่าว ได้ร่วมกันแสดงโดยจัดแสดงในรูปแบบโขนฉากอันเป็นการแสดง
โขนที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดตามแบบฉบับของกรมศิลปากรทุกประการ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้มีการ
อนุรักษ์และสืบทอดศิลปการแสดงโขนให้คงอยู่ต่อไป
***********************
|