รายละเอียด :
|
รศ.ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดในรายการสภา
กาแฟทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ถึงหลักใหญ่ ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติใหม่และบางส่วนที่ประชากรมหาวิทยาลัยยังข้องใจ
และเกิดความวิตกกังวล งานประชาสัมพันธ์ จึงได้ถอดความบางส่วนมาตีพิมพ์ เพื่อเป็นประโยชน์
สำหรับท่านที่ไม่ได้รับฟังการให้สัมภาษณ์ในวันดังกล่าว
* ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ผ่านที่ประชุมคณบดีส่ง 15,000 ชุด ให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความ
คิดเห็น
ปัจจุบันรัฐบาลมีมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การดูแล ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแลอยู่
24 มหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 มหาวิทยาลัย มี 4 มหาวิทยาลัย ซึ่งออกนอกระบบแล้วคือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัย
เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อีก 20 มหาวิทยาลัย กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อปรับเป็น
มหาวิทยาลัยนอกระบบคือ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นหน่วยราชการ บุคลากรมหาวิทยาลัยเมื่อ
ออกนอกระบบเต็มรูปแบบแล้วจะเป็นพนักงาน มีอยู่ 10 มหาวิทยาลัยได้เสนอพระราชบัญญัติไปแล้ว
อีก 10 มหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติ
ซึ่งขั้นตอนของการร่าง เมื่อร่างโดยกรรมการแล้วจะนำมาสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น
การรับฟังความคิดเห็นนี้ จะต้องรับฟังอย่างกว้างขวางทั้งจากบุคลากร นักศึกษา และ
บุคคลภายนอก ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ส่งร่างพระราชบัญญัติไปยังผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 15,000
ชุด โดยส่งให้บุคลากรทุกคน นักศึกษา 1 ใน 3 และบุคคลภายนอกจำนวนหนึ่ง
* สาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลง
มหาวิทยาลัยทุกแห่งถือเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานซึ่งต้องมีพระราชบัญญัติมารับรอง
พระราชบัญญัติฉบับเดิมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คือพระราชบัญญัติปี 2522 ใช้มาประมาณ
30 ปีแล้ว เมื่อเราจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ เราต้องมีพระราชบัญญัติใหม่ที่มีราย
ละเอียดในร่างพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงไป
* สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงในร่างพระราชบัญญัติใหม่เช่น
1. เดิมมหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการ เมื่อเปลี่ยนแปลงจะไม่เป็นหน่วยราชการ เป็น
มหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งบริหารโดยมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขข้อบังคับซึ่งได้กำหนดขึ้นมา
ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย
ส่วนหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยคือ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เป็นผู้ซึ่งมีการโปรดเกล้า
แต่งตั้งในพระราชบัญญัติเดิม สภามหาวิทยาลัยก็คือ องค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน
แต่ใช้ระเบียบราชการในบริหารเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น แต่ในอนาคตนั้นกฎเกณฑ์ ระเบียบเหล่านี้
สภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำกับ ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบียบราชการ
2. บุคลากรของมหาวิทยาลัย จะถูกเปลี่ยนจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
แต่ไม่ได้มีกำหนดว่าเปลี่ยนทันที ให้เวลาเปลี่ยนแปลงจากข้าราชการเป็นพนักงาน โดยไม่มีเวลากำหนด
ใครจะเป็นข้าราชการต่อไปจนเกษียนอายุราชการก็ได้ แต่ใครที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นพนักงาน
ถ้าเปลี่ยนใน 2 ปีแรก หลังจากพระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ก็จะรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเลย
โดยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ของการเป็นพนักงาน โดยจะมีการประเมินเป็นระยะ เพื่อ
ดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน แต่ผู้ที่ยังอยู่เป็นข้าราชการต่อก็ปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ของทางราชการ
* ลูกจ้างประจำจะออกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยได้ หากเขาต้องการ ส่วนลูกจ้างชั่วคราว
ก็ยังถือว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวเช่นเดิม
มหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายจะลดจำนวนบุคลากร แต่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับจะทำให้
เกิดความคล่องตัว ลดขั้นตอนในการทำงาน งานที่จะทำจะลดลง คนจำนวนหนึ่งจะไม่มีความจำเป็น
ที่จะให้ทำงานในจุดเดิม มหาวิทยาลัยจะนำคนเหล่านี้ไปสร้างงาน พัฒนางานใหม่ขึ้นมา ซึ่งตาม
ระเบียบใหม่จะมีความคล่องตัวขึ้นในการพัฒนางานใหม่ ๆ นั่นมองในแง่ของส่วนบริหารจัดการ
ส่วนสายการเรียนการสอนก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เราหยุดรับข้าราชการ โดยรับเป็นพนักงานแทน ในปัจจุบัน
มีพนักงานในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ประมาณ 300 คน โดยอยู่ภายใต้ระเบียบที่รัฐบาลกำหนด
มาให้เป็นพิเศษแก่ทุกมหาวิทยาลัย เมื่อพระราชบัญญัติใหม่ผ่านออกมากำหนดใช้ มหาวิทยาลัยจะมี
มาตรการหลายอย่างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ข้าราชการปรับเปลี่ยนมาเป็นพนักงาน เช่น
- ผู้ที่สมัครเข้าเป็นพนักงาน ใน 2 ปีแรก มหาวิทยาลัยจะรับเข้าเป็นพนักงานโดยไม่ต้อง
ผ่านการประเมิน แต่หลังจากนั้นผู้สมัครเข้าจะต้องผ่านการประเมินก่อน หากไม่ผ่านการประเมินก็ยัง
คงเป็นข้าราชการเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งข้าราชการจะค่อย ๆ หมดไป เนื่องจากวันใดก็
ตามที่ผู้ที่ครองตำแหน่งข้าราชการอยู่ปรับเปลี่ยนเป็นพนักงาน หรือลาออก หรืออยู่จนเกษียณอายุ
จะถูกยุบเลิกในวันที่พระราชบัญญัติใหม่มีผลบังคับใช้ ถ้าอธิการบดีและรองอธิการบดีจะเป็นผู้
บริหารต่อ จะต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยโดยทันที ส่วนหัวหน้าภาควิชา คณบดี และตำแหน่ง
อื่นที่เทียบเท่าเช่นผู้อำนวยการสถาบัน ศูนย์ สำนัก ยังมีเวลาให้ตัดสินใจอีก 90 วัน หลังจากนั้น
หากเป็นข้าราชการต่อจะเป็นผู้บริหารไม่ได้
- หากเป็นข้าราชการบำนาญ จะได้รับสิทธิของข้าราชการบำนาญ (ลูกจ้างประจำจะได้
บำเหน็จ) และหากได้รับเงินเดือนใหม่ของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าเดิมประมาณ 1.5 หรือ 1.6 เท่า
โดยเฉลี่ยอยู่แล้ว สิทธิประโยชน์ที่ได้ในแต่ละเดือนคือ เงินเดือนพนักงานรวมเงินบำนาญ จึงนับว่า
มากพอสมควร (ประมาณ 2 เท่าของเงินเดือนเดิม) สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับการสื่อสารแห่ง
ประเทศไทย เมื่อครั้งปรับเปลี่ยนจากกรมไปรษณีย์โทรเลข
ผมเรียนว่าขณะนี้คนจำนวนหนึ่งเริ่มถามแล้วว่าพระราชบัญญัติใหม่จะเสร็จเมื่อไหร่ เขา
ถือว่าที่ทำงานอยู่ปัจจุบันเขาทำงานเกินเงินเดือน หากปรับเป็นนอกระบบและมีค่าตอบแทนสมน้ำ
สมเนื้อกับงานที่ทำอยู่ เขาก็อยากจะออก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาจากการปรับเปลี่ยนเป็น
พนักงานคือ การประเมินงาน เป็นระยะ ๆ อย่างน้อยปีละครั้ง หากผลการประเมินไม่ผ่าน เราจะ
ให้เวลาในการปรับปรุงตัวเอง 3 ครั้ง หากยังไม่ปรับปรุงก็จะกระทบกับการทำงาน ซึ่งระบบ
ราชการปัจจุบันเราทำอย่างนั้นไม่ได้ หากไม่ผิดวินัย ไม่คอรับชั่น ก็อยู่ไปได้เรื่อย ๆ ความจริง
แล้วความมั่นคงในการทำงานเป็นเรื่องดี แต่หากไปบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน ประชาชน
ก็จะมีความคลางแคลงใจว่า คุ้มหรือไม่กับภาษีที่เขาต้องเสียเพื่อจ้างเรามาทำงาน
* พนักงานเงินเดือนสูงขึ้น จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย
ประการแรก รัฐจะให้เงินเพิ่มมาตามฐานที่คิดว่าจะมีคนออกนอกระบบไปเป็นพนักงาน
ในแต่ละปี โดยใช้ข้อสมมติฐานหลายประการคือ เชื่อว่าผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอายุราชการ
มากกว่า 10 ปี สนใจจะออกนอกระบบและดูจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่
ออกนอกระบบมา 3 ปีเศษ มีผู้ออกเป็นพนักงานแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ประการที่ 2
การทำงานแบบนอกระบบราชการ ซึ่งมีความรวดเร็ว คล่องตัว จะสามารถลดขั้นตอนและค่า
ใช้จ่ายในการทำงานได้พอสมควร ค่าใช้จ่ายที่ลดลงตรงนี้จะนำไปใช้ในการสร้างงานให้บุคลากร
ให้มากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาคือ มหาวิทยาลัยจะมีรายได้เข้ามาบางส่วน มหาวิทยาลัยก็น่าที่จะดำเนิน
งานไปได้ในช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนให้ลงตัว ซึ่งถูกกำหนดไว้เป็น 2 ระยะคือ 5 ปีและ
10 ปี คาดว่าทุกอย่างคงลงตัว หลังจากพระราชบัญญัติประกาศใช้ไปแล้วประมาณ 10 ปี
(พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คงมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2546)
* ออกนอกระบบ ค่าเล่าเรียนแพงขึ้นหรือเปล่า
ความกังวลเรื่องการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าบำรุงค่าธรรมเนียม
ต่าง ๆ เราจะไม่ขึ้นค่าธรรมเนียมนักศึกษาบนพื้นฐานของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่
การขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาจะเป็นการขึ้นตามปกติ ซึ่งแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการเช่น
ปัจจุบันก็จะมีการขึ้นค่าเล่าเรียนเป็นประจำอยู่แล้วตามภาวะความจำเป็น แต่ให้เกิดผลกระทบต่อ
นักศึกษาน้อยที่สุด
ถามว่าทำไมมหาวิทยาลัยนอกระบบที่ก่อตั้งขึ้นใหม่กำหนดค่าเล่าเรียนไว้สูง นั่นเป็นกลไก
และเงื่อนไขของการเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินทุนในการพัฒนาและต้องพัฒนาให้ได้เร็ว
เพราะเงินทุนจากรัฐยังมีข้อจำกัด แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ค่าใช้จ่ายต่อหัวของบัณฑิตปัจจุบันต่ำกว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่มีการ
ปรับค่าหน่วยกิตและมีนักศึกษาเข้าศึกษาเพิ่มมากขึ้นในอัตราปกติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ทุกวันนี้ เปิดหลักสูตรปริญญาเอกจำนวนมาก เนื่องจากนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาและปรับเปลี่ยน
เงินที่เหลือใช้ในแต่ละปีไม่ต้องส่งคืนคลังและไม่จำเป็นต้องรีบใช้ให้หมดเพราะกลัวถูกยึดกลับ
เพราะมีพระราชบัญญัติเขียนไว้ให้เงินที่เหลือเป็นเงินสะสมที่มหาวิทยาลัยสามารถนำมาใช้ได้
ผมเห็นว่าความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติของสังคมมหาวิทยาลัย เมื่อไหร่ที่คน
มหาวิทยาลัยเห็นเหมือนกันหมด อาจนำไปสู่ความเสียหายได้ เพราะจะไม่มีการเตือนให้มีการยับยั้ง
สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ผมคงต้องขอบคุณอาจารย์เหล่านี้และเคารพในความแตกต่างด้านความคิดเห็น
ถ้าจะหันไปหาทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้หรือไม่
สิ่งที่ต้องนำเสนอต่อประชาคมนี้ จะต้องเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลได้ให้แนว
ทางมา เพราะจะเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลเองต้องใช้ในการจัดสรรงบประมาณมาให้ใช้ หากเราคิดเป็น
อย่างอื่นคงคิดได้ แต่แนวทางหลักคงจะต้องไปสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลให้มา รัฐบาลเอง
ได้ให้แนวทางมาชัดเขนว่าต้องการเห็นการพัฒนาของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีความ
พร้อมแล้ว ออกไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการได้ด้วยโดยระบบที่พึง
จะเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ให้เป็นบทบาทของสภามหาวิทยาลัย ที่จะทำให้การบริหารการทำงานเป็น
ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นในฐานะของฝ่ายที่จะเป็นองค์กรของรัฐ เราคงต้องใช้แนวทาง
ตามที่เป็นเชิงนโยบาย ส่วนความคิดอื่น ๆ ที่แตกต่างก็ย่อมจะทำได้หลายทาง เช่น การเสนอ
ไปยังรัฐบาลเพื่อให้กำหนดนโยบายที่แตกต่างออกไป เป็นต้น
****************************
|