รายละเอียด :
|
องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นเจ้าภาพ
จัดโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและพบปะผู้นำนิสิตนักศึกษาแห่งอาเซี่ยน 10 ประเทศ เมื่อวันที่
4 - 8 มกราคม 2545 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยน
ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน
ผศ. เสถียร แป้นเหลือ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการแลกเปลี่ยน
ประสบการณ์อันเป็นการตอบสนองนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัยในด้านการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
และนำมหาวิทยาลัยออกสู่สากล จึงได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและพบปะผู้นำนักศึกษาแห่ง
อาเซี่ยน The Asean University Student Leaders Meeting and Cultural Exchange
Program ระหว่างวันที่ 4 - 8 มกราคม 2545 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างนักศึกษากลุ่มประเทศอาเซี่ยนได้แก่ ประเทศมาเลเซีย
พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในงานประกอบด้วยการ
บรรยายทางวิชาการเรื่องจุดแข็งทางวัฒนธรรมของอาเซี่ยน , เสน่ห์และเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม
ไทย การเสวนาเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซี่ยน , ทำอย่างไรจึงจะให้
เอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมอาเซี่ยนดำรงอยู่โดยปราศจากการแทรกแซงของชาติตะวันตก ชมการ
แสดงศิลปวัมนธรรมของตัวแทนแต่ละชาติ ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาให้กว้างขึ้น โดยมี
รายละเอียดของกิจกรรมดังนี้
วันที่ 4 มกราคม 2545 ผู้เข้าร่วมโครงการเดินทางถึงมหาวิทยาลัยฯ ในภาคเช้า และ
ภาคบ่ายประธานองค์การบริหารส่วนตำบลรูสมิแล กล่าวต้อนรับและประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง
การปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ณ โรงแรม ซี. เอส. ปัตตานี หลังจากนั้นเวลาประมาณ
19.30 น. รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดพิธี
โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและพบปะผู้นำนักศึกษาแห่งอาเซี่ยน พร้อมชมการแสดงนาฏศิลป์และ
ดนตรีไทย ณ หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี
วันที่ 5 มกราคม 2545 นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม
โครงการ ณ ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา ชมวีดีทัศน์แนะนำมหาวิทยาลัย พร้อมบรรยายทางวิชาการ
เรื่อง จุดแข็งทางวัฒนธรรมของอาเซี่ยน โดย ผศ. มนู อุดมเดช และเรื่องเสน่ห์เอกลักษณ์ของ
วัฒนธรรมไทย โดย รศ. เขต รัตนจรณะ และในภาคบ่ายเป็นการทัศนศึกษา ณ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
มัสยิดกรือเซะ วังยะหริ่ง และศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง ส่วนในภาคค่ำ นายสมพร ใช้บางยาง
ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ ณ โครงการจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กัลยาณิวัฒนา พร้อมชมการสาธิตการทำขนมไทยและการแสดงของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย ณ
ลานวัฒนธรรม โครงการจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
วันที่ 6 มกราคม 2545 ภาคเช้าบรรยายพิเศษเรื่อง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของ
กลุ่มประเทศอาเซี่ยน โดยรองกงสุลใหญ่อินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา ณ หอประชุมวิทยาลัยอิสลาม
ศึกษา หลังจากนั้นร่วมการเสวนาเรื่อง ทำอย่างไรจึงจะให้เอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมของอาเซี่ยน
ดำรงอยู่ พร้อมนำเสนอผลการเสวนากลุ่มย่อย ช่วงบ่ายมีการสาธิตการละเล่นพื้นบ้านและแข่งขันกีฬา
พื้นบ้านของไทย โดยนักศึกษาวิชาเอกพลศึกษา ณ อาคารยิมเนเซี่ยม ช่วงค่ำชมการแสดงด้านศิลป
วัฒนธรรมของตัวแทนแต่ละชาติ ณ หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี
วันที่ 7 มกราคม 2545 ภาคเช้าเดินทางไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
หาดใหญ่ สถาบันทักษิณคดีศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา สำหรับในภาคค่ำ ผศ. ดร.
อนันต์ ทิพยรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นประธานกล่าว
ปิดพิธีและมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ณ โรงแรม ซี. เอส. ปัตตานี
รศ. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมี
นโยบายอยู่แล้วในการสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา แต่ละวิทยาเขตเล็งเห็นความสำคัญและได้จัดสรร
งบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับการทำกิจกรรมเช่น งานวิเทศสัมพันธ์ จัดโครงการฝึกอบรมนักศึกษาดูแล
แขกชาวต่างประเทศของมหาวิทยาลัย การส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมเป็นกระบวนการพัฒนาและ
เป็นแผนกลยุทธ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย เพราะนักศึกษาและบัณฑิตในอนาคตต้องมีความรู้ที่กว้างไกล
และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันและชุมชนทั้งในและต่างประเทศ
"รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามวัตถุประสงค์ และเป็นการปูทาง
เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษารุ่นต่อไปได้จัดกิจกรรมที่มุ่งสู่สากลมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียง
ของมหาวิทยาลัยและเป็นการส่งเสริมการทำกิจกรรมของนักศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้จาก
การที่ได้พบปะพูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทยจากสถาบันต่าง ๆ ได้รับการตอบรับค่อน
ข้างดี ซึ่งประเมินได้จากการเข้าร่วมการเสวนากลุ่มย่อย การเข้าร่วมการแสดงของประเทศต่าง ๆ
ส่งผลให้เป็นโครงการต่อเนื่องในปีต่อไป" นางสาวฟาตีเม๊าะ เจ๊ะอาแซ ประธานโครงการแลกเปลี่ยน
ศิลปวัฒนธรรมและพบปะผู้นำนิสิตนักศึกษาแห่งอาเซี่ยน กล่าว
*******************
|