มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เตรียมเปิดคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในปี 2545 เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาคและ
สนองรับนโยบายการกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาค โดยมุ่งหวังสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชาศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ ศิลปไทย
และวิชาดุริยางคศาสตร์
นายสมบูรณ์ ธนะสุข ประธานโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าการเปลี่ยนแปลง
ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสมดุลทั้งด้านวัตถุและจิตใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
จึงได้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine and Applied Arts) ขึ้นในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (2540 2544) ซึ่งทบวง
มหาวิทยาลัยได้อนุมัติแล้ว โดยสามารถเปิดรับนักศึกษาในรุ่นแรกในปี 2545 ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านศิลปกรรม การออกแบบ และศิลปะการ
แสดงในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักศึกษาทั่วไปและนักศึกษาในภาคใต้ เป็นสถาบันเพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัย บริการ
วิชาการและพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ ให้เป็นศูนย์ข้อมูลด้านศิลปกรรมของภาคใต้และศิลปกรรมของประเทศกลุ่มอาเซียน
ประธานโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต่อไปว่าคณะศิลปกรรมศาสตร์จะ
ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนด้านศิลปกรรม เพื่อรองรับความหลากหลายทางศิลปและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งสอดรับกับภาระงานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ประกอบด้วยหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาศิลปะการแสดง (หลักสูตร 4 ปีและ 2 ปี) สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาประยุกต์ศิลป์ สาขาวิชาศิลปไทย
และสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ ซึ่งจะเริ่มเปิดรับนักศึกษาในรุ่นแรกปี 2545 ในสาขาวิชาละ 30 คน จากการสอบของทบวงมหาวิทยาลัยและการสอบตรงของ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้คณะศิลปกรรมศาสตร์มีเป้าหมายหลักที่จะกำหนดให้เป็นคณะวิจัย โดยจะให้ความสำคัญในการค้นคว้าวิจัยแก่อาจารย์
และนักศึกษา ในขอบข่ายของวัฒนธรรม ศิลปกรรม การออกแบบและศิลปะการแสดง แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ การวิจัยเพื่อพัฒนาและการวิจัยศิลปกรรมใน
ประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมของภูมิภาค รวมถึงการเป็นสถาบันที่ช่วยสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สืบทอดประเพณีภาคใต้
บัณฑิตที่จบด้านดังกล่าวจะเป็นผู้มีความสามารถเชื่อมโยงศิละให้สัมพันธ์กับศาสตร์สาขาอื่น มีค่านิยมในการผดุงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยและมี
ความสามารถเชิงปฏิบัติเพื่อการประกอบอาชีพสร้างสรรค์ผลงาน มีรสนิยมที่ดีให้กับสังคมและจะเป็นผู้ชี้นำสังคมในการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทย
ของคนรุ่นต่อไป
*******************
|