รายละเอียด :
|
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดการประชุมทางวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับภาคใต้ ปี 2545 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2545 เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และศาสนา
รศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าภาคใต้ของไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของภาษาหลัก ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และยังเป็นศูนย์รวมของศาสนาหลักของโลก รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นอกจากนั้นภาคใต้ยังตั้งอยู่บนแหลมมลายู ซึ่งอยู่ระหว่างศูนย์กลางอำนาจของรัฐกับพื้นที่ที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมใหม่คือ ประเทศมาเลเซีย พื้นที่บริเวณนี้จัดเป็นพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจเรียกว่า โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ IMT - GT ซึ่งปัจจุบันนี้มีนักวิชาการทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณนี้ทั้งนักวิจัยในประเทศและต่างประเทศ แต่งานวิจัยดังกล่าวยังคงจำกัดอยู่แต่เฉพาะแวดวงนักวิชาการในแต่ละสาขา ซึ่งประชาชนทั่วไปและผู้บริหารระดับต่าง ๆ เป็นจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านั้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงกำหนดจัดโครงการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับภาคใต้ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2545 ระหว่างวันที่ 13 - 15 มิถุนายน 2545 ณ โรงแรม ซี. เอส. ปัตตานี
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต่อไปว่าในการจัดการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับภาคใต้ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ ประสบการณ์ถิ่นไทยทักษิณ : การปริวรรตทางสังคมในทัศนะประชาชน ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดการประชุมฯ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2545 เวลา 09.00 น. ณ ห้องน้ำพราว โรงแรม ซี. เอส. ปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 400 คน ประกอบด้วยนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และฝรั่งเศส องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ผู้นำองค์กรท้องถิ่น
การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ - ประสบการณ์ IMT - GT เศรษฐกิจมหภาคและจุลภาคของภาคใต้, การอภิปรายและการปฏิบัติ : แนวคิดขององค์กรเอกชนในภาคใต้ การปริวรรตการศึกษาอิสลามปัจจุบัน, แนวโน้มใหม่ทางด้านการบันทึกประวัติศาสตร์ ฯลฯ ทั้งนี้นำการปาฐกโดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจกุล ศาสตราจารย์ ดร. สแตนลีย์ ทัมไบอาฮ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ผลงานระหว่างนักวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อันนำไปสู่การร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติต่อไป
*******************
|