ภาคใต้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่หลากหลาย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งนั้นได้รับอิทธิพลมาจาก
ประเทศเพื่อนบ้านและจากการนับถือศาสนาที่แตกต่างกันของประชาชนในพื้นที่ เช่น ได้รับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย เป็นต้น แม้ว่า
จะมีความหลากหลายวัฒนธรรม แต่ชาวใต้ก็สามารถที่จะคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนและผสมผสานวัฒนธรรมอื่นเข้าไว้กับของที่มี
อยู่เดิมได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นดินแดนที่มีความสมบูรณ์ทางด้านมรดกวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของเอเชียอาคเนย์
การผสมผสานวัฒนธรรมดังกล่าว จะเห็นได้ชัดในเรื่องของสถาปัตยกรรมเช่น สิ่งก่อสร้าง อาคาร บ้านเรือนต่าง ๆ ซึ่ง
ได้รับอิทธิพลจากชาวมลายู ชาวไทยเชื้อสายจีน และอารยธรรมตะวันตกจากพ่อค้าวาณิชที่เข้ามาติดต่อค้าขาย หรือล่าอาณานิคมในอดีต
จนออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่แปลกตาไปจากสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น
แต่ปัจจุบันสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยไม้ซึ่งผุพังได้ง่าย รวมไป
ถึงช่างฝีมือพื้นบ้านที่กำลังสูญหายไปอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนการใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีความสะดวกกว่าตามอิทธิพลของสถาปัตยกรรม
สมัยใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและคุณค่าความสำคัญของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับ
กลุ่มนักวิจัยชาวฝรั่งเศสจากสถาบันการวิจัยเอเชียอาคเนย์ (THE SOUTHEAST ASIAN RESEARCH INSTITUTE)
จัดทำโครงการหอวัฒนธรรมนิทัศน์ขึ้น เพื่อรวบรวมเอาสถาปัตยกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาก่อสร้างเป็นหมู่บ้านจำลอง เป็นการจัดพิพิธภัณฑ์
กลางแจ้ง เพื่อแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่นำมาแสดงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน
โครงการหอวัฒนธรรมนิทัศน์จะประกอบด้วย เรือนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตกศาลาไทย 2 หลัง บ้าน
เยาวชน หมู่บ้านไทยมุสลิมและไทยเชื้อสายจีน เรือนข้าว ช่างตีเหล็ก สะพาน เรือนสวนพฤกษศาสตร์ โดยเรือนหลังแรกที่ได้สร้างขึ้นมา
คือ "เรือนขนมปังขิง" หรือ "บ้านโบราณของอำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค" เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความ
สามารถของเจ้าของบ้านและช่างในการผสานวัฒนธรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืนในรูปแบบของโคโลเนียนสไตล์
ผู้สร้างบ้านหลังนี้คือ อำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค (ทอง คุปตาสา) เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี ในขณะดำรงตำแหน่ง
เป็นธรรมการมณฑลปัตตานี เมื่อปี 2453 โดยช่างชาวจีน ซึ่งคาดว่าก่อสร้างเสร็จประมาณปี 2476 อันเป็นปีที่พระยาพิบูลพิทยาพรรค
ออกจากราชการ เมื่อมีพระราชบัญญัติยุบเลิกมณฑลทั่วราชอาณาจักร เดิมตั้งอยู่ที่เลขที่ 3 ถนนสฤษดิ์ เยื้องกับโรงพยาบาลปัตตานีเก่า
ทิศตะวันตกจดคลองสามัคคี ด้านหลังบ้านติดถนนโรงเหล้าสาย ข มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งพระยาพิบูลพิทยาพรรคใช้ปลูกพืชผัก
ผลไม้ ดอกไม้นานาชนิด จนชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในนาม "บ้านสวน"
ลักษณะบ้านเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น สูงจากพื้นดินประมาณ 170 ซม. มีหลังคารวมทั้งลวดลายแกะสลักตกแต่งเป็นไปตาม
ลักษณะของบ้านแบบยุโรป ที่เริ่มการสร้างกันในประเทศไทยตั้งแต่ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่ง
กรุงรัตนโกสินทร์ มีหน้าต่างแคบยาว ตีไม้เป็นบานเกล็ดตายตัว แต่มีหน้าจั่วเพิ่มมาด้านหน้า ตัวบ้านทาสีฟ้าอ่อน ตัดขอบด้วยสีฟ้าเข้ม
ที่น่าสังเกตคือไม่มีการติดกุญแจที่ประตู มีเฉพาะกลอนภายในเป็นบางห้องเท่านั้น ผู้ที่เคยอาศัยภายในบ้านหลังนี้กล่าวว่าไม่เคยปรากฏว่า
มีขโมย ทั้ง ๆ ที่มีบริเวณกว้างขวาง ไม่มีรั้วบ้าน และติดถนนสองด้าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระยาพิบูลพิทยาพรรคเป็นคนดีมีความ
เด็ดขาด เป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลทั่วไปและชาวบ้านมุสลิมที่อยู่รอบ ๆ
ภายในบ้านมีการตกแต่งเรียบ ๆ ส่วนใหญ่เป็นเกียรติบัตร เหรียญ และเครื่องหมายสำหรับเครื่องแบบโอกาสต่าง ๆ ของ
พระยาพิบูลพิทยาพรรค มีตู้และชั้นหนังสือเป็นหลัก เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นผู้ที่รักการอ่านหนังสือและการประพันธ์คำกลอน
หลังจากที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคถึงแก่กรรมในปี 2509 และคุณหญิงสิน (ภรรยา) ได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ บ้านหลังนี้จึง
อยู่ในการครอบครองดูแลคือ คุณเกียรติราช ซึ่งเป็นหลานและใช้เป็นที่พักนักศึกษา จนถึงปี 2519 จึงมีการเปลี่ยนอีกครั้ง ผู้สืบทอดต่อมา
คือ ว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ และอาจารย์จีรพรพิชญ์ เชาวน์วาณิชย์ และได้ทำการบูรณะอีกครั้งให้อยู่ในสภาพที่ดี โดยมีเจ้าหน้าที่ของ
ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล
ต่อมาว่าที่ ร.ต. ปราโมทย์ เกรงว่าบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์
อาจได้รับความเสียหายจากการที่ตั้งตัวบ้านอยู่ในสภาพที่เป็นแอ่ง เพราะที่ดินโดยรอบได้กลายเป็นที่ตั้งของตึกแถวและบ้านพักอาศัย จึง
ได้แจ้งต่ออาจารย์ปัญญ์ ยวนแหล อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่ามีความประสงค์จะบริจาคให้
กับมหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป
ในเดือนกันยายน 2535 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงยศ ดวงมาลา อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยา
เขตปัตตานี ได้รับหนังสือแจ้งความจำนงการบริจาคบ้านจาก นายสมยศ ฉันทวานิช จึงได้นำนายเอริค บ็อกด็อง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส
เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการเคลื่อนย้ายบ้านหลังนี้ นายบ็อกด็อง ใช้เวลา 20 วัน สำหรับการแกะแบบและถอดชิ้นส่วนบ้าน ต่อมา
ในเดือนมีนาคม 2537 จึงได้ลงมือประกอบบ้านโดยใช้ช่างมุสลิมท้องถิ่นประมาณ 10 คน และประกอบแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม
2538 การรื้อบ้านโบราณและประกอบใหม่หลังนี้เป็นหนึ่งในการย้ายอาคารหลังใหญ่เพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก และสำหรับบ้านที่มีหลังคา
และจั่วเช่นบ้านพระยาพิบูลพิทยาพรรคหลังนี้ไม่เคยมีมาก่อน สถาปนิกและช่างต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำงาน เพื่อให้อยู่สภาพเดิม
มากที่สุด
อย่างไรก็ดีในส่วนที่ต่างไปจากเดิมคือ เพิ่มชายคาลายฉลุชั้นนอกของบ้านให้เข้ากับที่มีอยู่ในชั้นใน เปลี่ยนหลังคาจาก
กระเบื้องซีเมนต์เป็นหลังคากระเบื้องดินเผา โดยว่าจ้างผู้ผลิตซึ่งเหลืออยู่เพียงรายเดียวในอำเภอเมืองปัตตานี ส่วนสีบ้านได้เปลี่ยนจาก
สีฟ้ามาเป็นสีขาว และกระจกช่องแสงใช้แบบลายแทนแบบฝ้าของเดิม นอกจากนี้ได้เพิ่มบันไดสองข้างหน้าระเบียงที่ยื่นออกมาเฉลียง
ปัจจุบันโครงการจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ได้ใช้ห้องหนึ่งของบ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของสถาบัน
ส่วนอื่น ๆ ใช้จัดเป็นนิทรรศการชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นร่วมสมัยของพระยาพิบูลพิทยาพรรค
วันนี้ เรือนขนมปังขิง บ้านไทยโคโลเนียนสไตล์ ได้ตั้งเด่นเป็นสง่าโชว์ความเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของชาวใต้ที่ผสม
ผสานวัฒนธรรมตะวันตก - ไทย อยู่ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
*****************
|