รายละเอียด :
|
34 ปีแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 34 ปีแห่งการตอบสนองประโยชน์และความคาดหวังของสังคม
โดยสร้างความรู้ทางวิชาการจากการวิจัยสู่การสอนและบริการวิชาการ จัดทำกลยุทธ์รองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบทูลรายงานกิจการมหาวิทยาลัยต่อสมเด็จพระเจ้า
ลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา
2543 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2544 มีใจความที่สำคัญดังนี้ ปี 2544 เป็นปีที่ 34 ในการปฏิบัติงานภายใต้บริบทแห่งภารกิจหลัก
อุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มุ่งสืบทอดเจตนากระจายโอกาสทางการศึกษาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาสู่ภาคใต้
เพื่อตอบสนองประโยชน์และความคาดหวังของสังคม โดยการสร้างสมและบูรณาการความรู้และคุณค่าทางวิชาการจากการวิจัยสู่การสอน
และบริการวิชาการ ประยุกต์ใช้ระบบคุณภาพที่มีมาตรฐานในทุกหน่วยงาน จัดทำกลยุทธ์รองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัตน์ และกำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตและบริการที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองตามระบบ
มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้
ด้านการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีพื้นที่ให้บริการการศึกษา ณ วิทยาเขตต่าง ๆ ใน 5 จังหวัดภาคใต้
คือ สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และตรัง แต่ละวิทยาเขตจะมีจุดเน้นที่ต่างกัน เป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง
และหลากหลาย และขยายศักยภาพให้สามารถรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองกับพระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การดำเนินการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย จะใช้ฐานการพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อบูรณาการ
ให้บัณฑิตเกิดปัญญา สมรรถนะ และโลกทัศน์สากล ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ รวม 185 หลักสูตร
เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 96 หลักสูตร และหลักสูตรสูงกว่าปริญญาตรี 89 หลักสูตร มีนักศึกษารวม 17,822 คน คณาจารย์ 1,556
คน และบุคลากรอื่น ๆ รวม 5,414 คน
ด้านการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสนับสนุนงานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ
และนำผลที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาภาคใต้และประเทศโดยรวม โดยจัดให้มีกองทุนของมหาวิทยาลัย ขยายงานวิจัยของบัณฑิต
ศึกษา เสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของนักวิจัยและผู้ให้บริการวิชาการ สนับสนุนทุนวิจัยทั้งประเภทที่มหาวิทยาลัยกำหนดทิศทาง
อย่างมีเป้าหมาย สอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาภูมิภาค และสนับสนุนการจัดทำเป็นชุดโครงการวิจัย รวมทั้งส่งเสริมงานบริการวิชาการ
ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาภาคใต้และการแก้ปัญหาท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษในภาคใต้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยได้รับ
การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยจากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานจากต่างประเทศรวม 85 โครงการ เป็นเงินประมาณ 24 ล้านบาท
ผลงานวิจัยและบริการวิชาการที่สำคัญได้แก่ การพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการสวนปาล์ม การศึกษารูปแบบและแนวทางการป้องกัน
และแก้ไขการเกิดอุทกภัยเมืองหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง การวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเล การวิจัยพื้นฐานและการวิจัยเพื่อ
พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยางพารา การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชและสัตว์
เศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น มังคุด ส้ม ลองกอง กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลากดเหลือง ปลานิล แพะ และไก่เบตง เป็นต้น รวมทั้งงานวิจัยด้าน
สาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งในปีนี้ผลงานวิจัยเรื่องระบาดวิทยาของโรคเมลิออยโดลิสและเชื้อ Burkholderia pseudomallei ใน
ประเทศไทยได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับชมเชย ประจำปี 2544 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังมีงานบริการด้านสาธารณสุข ดำเนินงานโดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ให้บริการผู้ป่วยนอกวันละ 2,500 ราย ผู้ป่วยในเดือนละ 3,000 ราย มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 796 เตียง และโรงพยาบาลทันตกรรมให้
บริการผู้ป่วยวันละ 300 ราย พร้อมทั้งมีงานบริการทางเภสัชกรรม ศูนย์บริการสุขภาพช่องปากชุมชนเมือง และงานบริการสาธารณสุข
ตามโครงการทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้ และโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์
ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศในรูปของการพัฒนา
งานวิจัย การทำวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา การศึกษาดูงานและฝึกอบรม และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศ
เพื่อนบ้าน ในรอบปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัย/สถาบันต่างประเทศที่มีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวม
74 ฉบับ จาก 18 ประเทศ และโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเวียดนามและลาว กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนนักศึกษา
การถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา การสร้างความเข้มแข็งทางการวิจัย การจัดหลักสูตรฝึกอบรม/
ประชุมนานาชาติ
ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมีการศึกษาค้นคว้า วิจัย ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม
ประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนภาคใต้ ภาษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเห็นคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรมที่หลาก
หลายในสังคมไทยและสังคมโลก มีคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ในรอบปีที่ผ่านมานอกจากการเก็บรวบรวมศิลปโบราณวัตถุ ศิลป
หัตถกรรมพื้นบ้านในรูปพิพิธภัณฑ์และกิจกรรมที่จัดเป็นประจำทุกปีแล้ว ยังมีกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การสร้างหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ที่
วิทยาเขตปัตตานี การวิจัยส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านในภาคใต้ และการวิจัยแหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำปัตตานี เป็นต้น
*****************
|