มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดแผนนำมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้
เผยแพร่แนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนรวมเพื่อการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับท้องถิ่น
นายสนั่น เพ็งเหมือน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและผู้จัดการโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยสงขลา-
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันการศึกษาของชุมชนภาคใต้ที่มี
บทบาทด้านการศึกษา สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเสมอภาคของประชาชน และ
เป็นแหล่งบริการทางวิชาการให้กับชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบตัวอย่างและศูนย์การเรียนรู้สำหรับท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ การจัดการพลังงาน
ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ล้วนแต่เป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดความขัดแย้งในกระบวนการพัฒนา
โครงการเหล่านั้นจึงเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย
โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในสังคมภายในและ
ภายนอกมหาวิทยาลัย และการเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการไปยังชุมชนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่ง
กิจกรรมประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำ
เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของอ่าวปัตตานีและห่างจากเขต
เมือง จึงต้องจัดหาน้ำเพื่อการบริโภคจากบ่อบาดาล ขณะเดียวกันได้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Oxidation Pond บำบัด
น้ำเสียภายในบริเวณวิทยาเขตก่อนปล่อยลงทะเลโดยไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ ปัญหาการสูญเสียน้ำเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเนื่องจาก
ระบบท่อส่งชำรุด ประเมินว่าการสูญเสียที่เกิดจากระบบท่อส่งจะสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การสูญเสียที่เกิดจากผู้ใช้มีขึ้นอีก
จำนวนหนึ่ง การสูญเสียในปริมาณมากนี้ไม่เพียงเป็นการสูญเสียด้านทรัพยากร แต่วิทยาเขตต้องสูญเสียงบประมาณในการผลิตน้ำ
จำนวนไม่น้อย ในด้านการบำบัดน้ำเสียที่ใช้อยู่ปัจจุบัน วิทยาเขตต้องใช้พลังงานในการเดินเครื่องเติมอากาศ ปัจจุบันวิทยาเขต
สามารถฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่นับร้อยไร่ จึงเป็นแนวทางใหม่ของระบบนิเวศน์ที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดมลภาวะ
ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียและเป็นตัวอย่างของการสร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศน์ของพื้นที่และการใช้ป่าชายเลนหรือ
พื้นที่ชุ่มน้ำในการบำบัดน้ำเสียชุมชน
กิจกรรมการปรับปรุงและจัดระบบการจราจร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีลักษณะพิเศษเช่นเดียวกับวิทยาเขตหาดใหญ่ที่กลุ่มอาคารต่างอยู่
ใกล้กัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และกลุ่มอาคารเรียน จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมากในการออกแบบทางเดินเชื่อม
ต่อเพื่อลดการใช้ยานพาหนะ โดยมีการปรับปรุงระบบการจราจรภายใน เพื่อลดอุบัติเหตุและการใช้ยานพาหนะอย่างมีประสิทธิภาพ
และให้มีการสำรวจการใช้เส้นทาง กำหนดเส้นทางเดินหลักและทางเชื่อมสาขาออกแบบภูมิสถาปัตย์สอดคล้องกับการกำหนดทางเดิม
เชื่อมต่ออาคาร
กิจกรรมการจัดการขยะมูลฝอย
บริเวณมหาวิทยาลัยฯ รายล้อมด้วยหน่วยปกครองท้องถิ่นเช่น เทศบาล เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล
ที่ล้วนแต่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย กิจกรรมการจัดการขยะมูลฝอยจึงมีความสำคัญที่จะเป็นตัวอย่างให้กับท้องถิ่น กิจกรรม
ที่สำคัญได้แก่ การปรับปรุงระบบการจัดการขยะมูลฝอย โครงการแยกวัสดุรีไซเคิล การนำขยะอินทรีย์วัตถุไปทำปุ๋ยอินทรีย์
นายสนั่น เพ็งเหมือน ได้กล่าวอีกว่าการกำหนดเป้าหมายนั้น คณะทำงานจะมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน
เป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นโครงการต้นแบบในการบูรณาการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมี
ส่วนร่วม
*********************
|