สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้ง "ศูนย์ข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้" รวบรวม
ข้อมูลทุกด้านของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล และให้บริการสืบค้นบนอินเตอร์เน็ต
ผศ. กนก จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นความสำคัญของข้อมูลเกี่ยวกับภาคใต้ในลักษณะต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น แต่ข้อมูลเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ตาม
หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะใช้ข้อมูล ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้
ทันท่วงที ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่เป็นที่พึ่งของ
ท้องถิ่น ภูมิภาค และของประเทศชาติ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีศูนย์ข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถือ
เป็นนโยบายสำคัญเพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้และบริการจัดการให้เป็นระบบ สะดวกต่อการสืบค้น สามารถให้บริการแก่
บุคลากรมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ก่อตั้ง "ศูนย์ข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้"
(BORDER PROVINCES DATA CENTER) ขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2542 เป็นต้นมา เพื่อสนองตอบ
นโยบายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 สำนักวิทยบริการ (อาคาร 22
หอสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดี้) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี การดำเนินการในระยะแรกจัดทำข้อมูล
ทั่วไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่ในห้องสมุดก่อน แล้วจึงขยายเจาะลึกในรายละเอียดด้านอื่น ๆ เช่น ภูมิศาสตร์
ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ข้อมูลจากงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ การจัดการข้อมูล
คณะกรรมการจะวิเคราะห์และเลือกข้อมูล เพื่อให้บริการบนอินเตอร์เน็ตในรูปของโฮมเพจ
ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ให้บริการแก่ผู้สนใจทั่วไปแล้ว โดยอยู่ในเว็บไซต์ของ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยการเข้าไปที่ "สำนักวิทยบริการ" หรือเข้าถึงโดยตรงได้ที่
www.pn.psu.ac.th/acad/bpdc/index.html ประกอบด้วยข้อมูลของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา ในเรื่องของประวัติความเป็นมา แผนที่จังหวัด คำขวัญประจำจังหวัด
ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากนี้ผู้สนใจยังสามารถเข้าไปศึกษาหรือ DOWN LOAD เพลงประจำจังหวัด
เพลงพื้นเมือง พจนานุกรมภาษามลายูท้องถิ่น ตลอดจนงานวิจัยที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้แจงต่อไปว่าแนวคิดไปสู่การปฏิบัติเต็ม
รูปแบบของศูนย์ข้อมูลจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญได้แก่ การให้บริการข้อมูลของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกด้าน
อาทิ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมข้อมูลที่เป็นสื่อผสม (MULTIMEDIA)
ได้แก่ ข้อความ ภาพ เสียง และวิดีทัศน์ ตลอดจนบทความ หนังสือ ตำรา งานวิจัย วิทยานิพนธ์ และการให้บริการ
ตามภารกิจของมหาวิทยาลัยในการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นต้น
******************
|