รายละเอียด :
|
รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งสารรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของทีมบริหาร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา (1 มิถุนายน - 31 ธันวาคม 2543) ข่าวศรีตรังขอนำผลงานดังกล่าว
มาเสนอต่อท่านผู้อ่านดังนี้
เรียน ชาว ม.อ. ทุกท่าน
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2544 ขออำนวยพรให้ชาว ม.อ. ทุกท่าน ทั้งอาจารย์ ข้าราชการ ลูกจ้าง และนักศึกษา
จงประสบแด่ความสุขในชีวิตส่วนตัว ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่การงานต่าง ๆ และมีพลังกายพลังใจที่จะร่วมสรรสร้าง
สังคมและส่วนรวมอย่างต่อเนื่องตลอดไป
ด้วยความปรารถนาดี
รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์
อธิการบดี
และในโอกาสแห่งการเริ่มต้นปีใหม่นี้ ผมใคร่ขอรายงานถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทีมบริหารในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา (1 มิถุนายน -
31 ธันวาคม 2543) โดยจะกล่าวถึงหลักการและการดำเนินงานโดยสังเขปคือ
ก. หลักการ
ทีมบริหารได้นำวิสัยทัศน์ (vision) และพันธกิจ (mission) ที่มหาวิทยาลัยได้จัดทำขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งผมเองได้มีส่วนร่วมในการจัดทำด้วย มาพิจารณาและทบทวนแล้วเห็นว่าหลักการของวิสัยทัศน์และพันธกิจดังกล่าวส่วนใหญ่ดีอยู่แล้ว
โดยนำมาปรับปรุงแก้ไขเพียงบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ ในการเริ่มบริหารงานของทีมบริหารชุดนี้ จึงให้เน้นการแปลง
วิสัยทัศน์และพันธกิจมาเป็นนโยบายและกลยุทธ์ในการปฏิบัติ ซึ่งในการจัดทำแผนกลยุทธ์ ทีมบริหารได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่าย
วางแผนและพัฒนา (รองฯ บุญสม) ได้ดำเนินการสำรวจและตรวจเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามหาวิทยาลัยทั้งจากภายใน
และต่างประเทศ มากำหนดเป็นแนวทางในการจัดทำแผนกลยุทธ์และได้นำประเด็นสำคัญ ๆ จากเอกสารเชิงหลักการเรื่อง "หลักการ
และแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในช่วงปี 2543 - 2546" ซึ่งผมได้จัดทำขึ้นและนำเสนอต่อคณะกรรมการสรรหา
อธิการบดี เมื่อเดือนมีนาคม 2543 มาเป็นสาระหลัก ๆ ในการจัดทำแผนกลยุทธ์
เอกสารเชิงหลักการดังกล่าวประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 หัวข้อคือ
1. บทนำ (ซึ่งกล่าวถึงความพร้อมของ ม.อ.)
2. วิสัยทัศน์ นโยบาย และเป้าหมาย
3. แนวทางการบริหารจัดการในประเด็นที่ผู้แทนของกลุ่มต่าง ๆ เสนอต่อกรรมการสรรหา (ซึ่งมีอยู่ 10 ข้อ) และ
4. บทส่งท้าย ผมจะนำเอกสารดังกล่าวนี้เข้า web ของมหาวิทยาลัยในเร็ว ๆ นี้ สำหรับในขั้นตอนนี้ เพื่อให้สามารถ
เข้าใจประเด็นที่ผมจะรายงานในเรื่องการดำเนินงานในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาได้ชัดเจนขึ้น
ผมจะเสนอเป็นเบื้องต้นเฉพาะประเด็นวิสัยทัศน์ นโยบาย และเป้าหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวข้อโดยสรุปคือ
1. วิสัยทัศน์ ประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญคือ
1. พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นชุมชนทางวิชาการ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับนานาชาติ โดยให้ผู้ใฝ่รู้
ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ในหลากหลายรูปแบบ
2. สร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการในสาขาที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของภาคใต้ และพัฒนาให้เกิด
การยอมรับในระดับสากล
2. นโยบาย ประกอบด้วย 3 นโยบายย่อยคือ
1. นโยบายเชิงหลักการ เน้นหลักการที่สำคัญของความเป็นองค์กรทางวิชาการที่ดี 6 ประการคือ
* ความมีศักดิ์ศรีและซื่อสัตย์ (integrity)
* ความมีเหตุมีผล (reasoning)
* ความมีอิสระทางวิชาการ (academic freedom)
* ความมีคุณภาพ (quality)
* ความมีประสิทธิภาพ (efficiency)
* สวัสดิการ (security) ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น
- สิ่งแวดล้อม (ภูมิทัศน์ ที่พักอาศัย และที่ทำงาน)
- เศรษฐกิจ
- คุณภาพชีวิต (สันทนาการ เกื้อกูล คุณธรรม จริยธรรม)
ผมเชื่อว่าหลักสำคัญแห่งองค์กรทางวิชาการทั้ง 6 ประการนี้ จะสามารถนำมหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
(excellency) ได้
2. นโยบายด้านวิชาการ จะมุ่งเน้นคุณลักษณะทางวิชาการที่สำคัญคือ
* วิจัยควบคู่กับบัณฑิตศึกษา (Research Oriented and Graduate Studies)
* ปริญญาตรีที่เน้นคุณภาพ ควบคู่กับการมีระบบที่เปิดโอกาสทางการศึกษา
(Undergraduate with Quality and Opportunity)
* ส่งเสริมการเปิดหลักสูตรสหวิทยาการ (Interdisciplinary)
* ส่งเสริมความเป็นสากล (Internationalization)
* มีคุณภาพและตรวจสอบได้ (Quality Assurance / Accounta - bility)
3. นโยบายด้านบริหารจัดการ ประกอบด้วยแนวทางการบริหารที่สำคัญ ๆ คือ
* เน้นความสัมพันธ์เชิงนโยบาย (Policy Oriented)
* เน้นการกระจายอำนาจ (Decentralization)
* เน้นการจัดระบบและกำหนดระเบียบ (Systems and Regulations)
* เน้นการลดการใช้กระดาษและลดขั้นตอน (Less Paper and Paperwork)
* เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Participatory)
* เน้นการสร้างเครือข่ายในการทำงาน (Networking)
* มีคุณภาพและตรวจสอบได้ (Quality Assurance / Accounta - bility)
3. เป้าหมาย มีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ
1. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งในภาคใต้ (เป็นศูนย์กลางทางวิชาการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ
ภาคใต้)
2. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ (ติดกลุ่ม 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ) และใน
อนุภูมิภาค IMT - GT
3. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าในภูมิภาค Asia - Pacific
ข. การดำเนินงาน
1. ในระยะ 4 เดือนแรก (มิถุนายน - กันยายน 2543) เป็นระยะที่ใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ 2543
มีงานปกติและงานพิเศษที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนอยู่หลายประการคือ
1.1 งานปกติ มีงานปกติที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ
1.1.1 การติดตามและเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2543 ให้เป็นไปตาม
แผนงานและแผนเงินที่กำหนด โดยเฉพาะงบลงทุนด้านการก่อสร้าง
1.1.2 การชี้แจงงบประมาณประจำปี 2544 ต่อกรรมาธิการฯ และการจัดทำ
งบประมาณเงินรายได้ประจำปี 2544 เสนอสภามหาวิทยาลัย
1.1.3 งานวันพระราชทานปริญญาบัตร
1.2 งานพิเศษ มีงานพิเศษเร่งด่วนที่สำคัญในช่วงดังกล่าวนี้อยู่ 2 ประการคือ
1.2.1 งานวันเกษตรแห่งชาติ
1.2.2 การจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย - แผนกลยุทธ์ พ.ศ. 2544 - 2549 กรณี
งานพิเศษตามข้อ 1.2.2 คือการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ทีมบริหารได้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากของช่วง
4 เดือนแรกนี้ เพราะแผนดังกล่าวนี้ถือเสมือนเป็นนโยบาย แนวทาง และคู่มือในการปฏิบัติหน้าที่ของทีมบริหารชุดนี้ ซึ่งมีวาระการบริหาร
ระหว่าง 1 มิถุนายน 2543 ถึง 30 พฤษภาคม 2546 อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาฯ นี้ได้จัดทำเป็นแนวทางให้ครอบคลุมถึงปี 2549 ซึ่ง
เป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เพราะวาระการบริหารของทีมบริหารชุดนี้ครอบคลุมช่วง 2 ปีแรก
ของแผนฯ 9 ด้วย (แผนฯ 9 เริ่มในเดือนตุลาคม 2544) ทีมบริหารได้กำหนดว่าจะเริ่มนำแผนพัฒนา - แผนกลยุทธ์นี้ มาใช้เป็นแนวทาง
ในการบริหารงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2543 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2544 ซึ่งในขณะนี้ก็ได้เริ่มใช้ไปแล้วและจะได้กล่าวถึงโดย
สังเขปต่อไป
ในการจัดทำแผนพัฒนา - แผนกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ได้ใช้แนวทางในการจัดทำตามที่กล่าวแล้วในข้อ ก. หลัง
จากได้ประมวลและเป็นแผนพัฒนา - แผนกลยุทธ์ฉบับร่างแล้ว ก็ได้นำฉบับร่างนี้เสนอต่อประชาคมมหาวิทยาลัยในรูปแบบ ลักษณะ
และระดับต่าง ๆ เพื่อการวิจารณ์และการเสนอข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งหลังจากการรับฟังข้อคิดเห็นและเสนอแนะจากประชาคม
แล้ว ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขและนำเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณา (แผนฯ ฉบับที่เสนอสภาฯ สามารถดูได้ที่ webpage ของมหาวิทยาลัย
http://www.psu.ac.th แผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย)
ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2543 สภามหาวิทยาลัยมีข้อเสนอแนะบางประการ
และให้นำมาปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะในประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนและความสัมพันธ์กับชุมชนในชนบท ส่วนในประเด็นอื่น ๆ
สามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานได้เลย ซึ่งขณะนี้ประเด็นที่เป็นข้อเสนอแนะดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข และจะนำ
เสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 20 มกราคม 2544 และเมื่อสภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบโดยรวมแล้ว
มหาวิทยาลัยจะได้จัดพิมพ์เป็นเล่มเพื่อแจกจ่ายให้เป็นที่รับทราบและร่วมมือปฏิบัติโดยทั่วกัน
ในช่วง 4 เดือนแรกนี้ แม้ว่าจะเน้นการปฏิบัติงานไปที่การจัดทำแผนพัฒนา - แผนกลยุทธ์ แต่ก็ได้มีการกำหนด
และเร่งรัดงานที่จำเป็นเร่งด่วนหลายประการคือ
1. การพัฒนาระบบ web - based ในการลงทะเบียนและการชำระค่าเล่าเรียน รวมทั้งการจองหอพัก ซึ่ง
ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้กับการลงทะเบียน
2. การพัฒนากลุ่มวิชาและระบบวิธีในการจัดการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ในกลุ่มวิชาการศึกษาทั่วไป (General
Education) และการพัฒนากระบวนการด้านกิจการนักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาและเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์
ให้มากขึ้น
3. การจัดทำหลักสูตรทางด้าน IT ที่เป็นหลักสูตรกลางของมหาวิทยาลัย
4. การพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเครือข่ายห้องสมุดระหว่างวิทยาเขตและกับระบบภายนอกทั้งในและ
ต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student - centered) และเพื่อสนับสนุนการวิจัย
5. การพัฒนาสมรรถนะและโอกาสของนักศึกษา ในการเข้าถึง access และการใช้ระบบ IT
6. การวิจัยเป็นทีมและการพัฒนากลุ่มวิจัย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ / สถาบันวิจัยเฉพาะทางในอนาคต รวมทั้ง
การเชื่อมโยงงานวิจัยกับบัณฑิตศึกษา
7. การดำเนินการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาบันวัฒนธรรมศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี และคณะอุตสาหกรรม
บริการที่วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งขณะนี้สภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบและนำเสนอทบวงมหาวิทยาลัยแล้ว
8. การยุติกิจกรรมทางด้านยางพาราที่วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต และการจัดทำแผนกระจายเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยี
ยางไปไว้ที่วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตหาดใหญ่
9. การจัดทำแผนปรับปรุงและพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมของวิทยาเขตต่าง ๆ โดยในขั้นต้นจะเน้นสิ่งแวดล้อมด้าน
ภูมิทัศน์ ถนนหนทาง และสถานที่สันทนาการ และในโอกาสต่อไปจะเน้นสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานและการปรับปรุงอาคารต่าง ๆ โดยยึด
หลักการให้แต่ละวิทยาเขตเป็นสถานที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เขียว สะอาด และมีมาตรฐาน (green , clean and standard)
สามารถเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนภายนอก หรือมหาวิทยาลัยสามารถให้คำแนะนำแก่สังคมภายนอกได้อย่างมั่นใจ
10. การจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อการขยายตัวของวิทยาเขตหาดใหญ่ ในตำบลท่าข้ามและตำบลโคกกลอย เนื้อที่รวม
ประมาณ 700 ไร่ ห่างจากวิทยาเขตหาดใหญ่ไปตามถนนปุณณกันต์ประมาณ 7 กม.
11. การตัดโอนความรับผิดชอบระบบโทรศัพท์จากกองอาคารฯ ไปไว้ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์
12. การติดต่อประสานงานกับส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาร้านค้าบริเวณริมถนนปุณณกันต์ และประตู
108 รวมทั้งการออกแบบและเตรียมการปรับปรุงบริเวณดังกล่าว
13. การจัดซื้อยานพาหนะประจำส่วนกลาง ด้วยเงินรายได้วิทยาเขตหาดใหญ่ จำนวน 3 คัน เพื่อทดแทนรถเก่าที่
ทรุดโทรม ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยในการเดินทางไปราชการ
14. จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางในการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัย
15. การปรับระบบและวิธีการรับนักศึกษาใหม่ และการปรับปรุงระเบียบการศึกษาว่าด้วยการเทียบโอนหน่วยกิต
เพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษา
16. การปรับปรุงระบบการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแก่นักศึกษา
17. การสรรหาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและคณะศิลปศาสตร์ และผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต
18. ปรับปรุงสโมสรอาจารย์และข้าราชการ ด้วยงบประมาณเงินรายได้วิทยาเขตหาดใหญ่
2. ในระยะ 3 เดือนหลัง (ตุลาคม - ธันวาคม 2543)
เป็นระยะเริ่มต้นปีงบประมาณ 2544 งานสำคัญในช่วงนี้ประกอบด้วยงานปกติ งานต่อเนื่อง งานพิเศษ งานใหม่
และงานฉุกเฉินคือ
2.1 งานปกติ ประกอบด้วยงานสำคัญ ๆ คือ
1. จัดทำแผนการใช้งบประมาณแผ่นดินและงบประมาณเงินรายได้ โดยเฉพาะงบลงทุนในทุก ๆ
วิทยาเขต
2. จัดทำงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2545
2.2 งานต่อเนื่อง งานเร่งรัดที่เริ่มต้นในช่วง 4 เดือนแรก (ตามข้อ 1 - 18) มีหลายรายการที่ต้องดำเนินการ
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเร่งรัดและติดตามอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนนี้ด้วย
2.3 งานพิเศษ ประกอบด้วยงานหลักคือ
1. จัดร่างแผนพัฒนาอุดมศึกษาฉบับที่ 9 (2545 - 2549) ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์
2. เร่งรัดการร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยใน
กำกับของรัฐ
2.4 งานใหม่ เป็นงานที่เริ่มใหม่ตามแผนกลยุทธ์คือ
1. ปรับแนวทางการเปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะระดับปริญญาเอกให้มีความ
คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
2. พัฒนาหลักสูตรทางด้าน IT ร่วมกับ NECTEC และภาคเอกชน โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ที่วิทยาเขตภูเก็ต
3. จัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยจากเงินรายได้ของคณะและมหาวิทยาลัย
4. เจรจากับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ คือ
อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ วิศวกรรมทางน้ำ รัฐศาสตร์
การศึกษาทั่วไป การโรงแรมและการท่องเที่ยว วิศวกรรมการแพทย์ พยาบาล แพทยศาสตร์
เกษตรศาสตร์ บริหารธุรกิจ ศึกษาศาสตร์ และระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัย และ
มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นทางด้านแพทยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์
2.5 งานฉุกเฉิน งานฉุกเฉินที่สำคัญที่ทุกท่านทราบกันดีก็คือ งานช่วยเหลือประชาชนผู้ประสพอุทกภัยในช่วง
ปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดียิ่ง และได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมากจากสังคม
โดยเฉพาะจากผู้ประสพอุทกภัย ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุก ๆ ท่านที่ได้เข้าร่วมช่วยเหลืองานนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะนี้มหาวิทยาลัย
ยังได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องอยู่อีก 2 ลักษณะคือ
1. การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสพอุทกภัย มีคณะกรรมการซึ่งรองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่เป็น
ประธาน กิจกรรมจะเน้นไปที่การช่วยเหลือโรงเรียนต่าง ๆ ที่ประสพอุทกภัย
2. การศึกษาและพัฒนาระบบการป้องกันอุทกภัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์เป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา
*********************
|