รายละเอียด :
|
ฉบับที่ 081/2537 1 กรกฎาคม 2537
ม.อ. ปัตตานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศซาอุดิอารเบีย จัดสัมมนาภาษาอาหรับปีที่ 2
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมาดีนะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จัดสัมมนาภาษาและวัฒนธรรมอาหรับให้แก่ครูสอนศาสนาทั่วประเทศเป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม 13 สิงหาคม 2537 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย
ดร. อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่าการจัดสัมมนาเข้มครูสอนภาษาอาหรับและวัฒนธรรมอาหรับ ซึ่งวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งมาดีนะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย ได้จัดขึ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 16 สิงหาคม 2536 นั้น ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยที่มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมาดีนะฮ ได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและวิทยากร และยังได้คัดเลือกผู้เข้าอบรมจำนวน 10 คน ให้ได้รับทุนเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมาดีนะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย ในคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ คณะอักษรศาสตร์อาหรับและวัฒนธรรม, กุรอาน, หะดีษ (วจนะของท่านศาสดา), ซารีอะฮ (นิติศาสตร์อิสลาม)
จากความสำเร็จในการจัดสัมมนาดังกล่าวนำไปสู่โครงการต่อเนื่องในการจัดสัมมนาเป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม 13 สิงหาคม 2537 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนวิชาศาสนาอิสลามแก่ครูผู้สอนวิชาภาษาอาหรับและวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 120 คน ทั้งนี้การจัดสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย ทั้งในด้านงบประมาณและวิทยากร ซึ่งเป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมาดีนะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย โดยการนำของศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมมัด คอลีฟะฮ อัตตะมิมีย์
หลักสูตรการอบรมดังกล่าวประกอบด้วยวิชาที่เกี่ยวข้องกับหะดีษ (วจนะ) ชีวประวัติของศาสดามูฮัมหมัด, วิชาบรรยายอัลกุรอาน, วิชาการเรียนและวิธีการสอนภาษาอาหรับ นอกจากผู้เข้ารับการสัมมนารวม 120 คนแล้ว วิทยาลัยอิสลามศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษา ผู้สนใจ เข้าฟังการบรรยายด้วย
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยเพิ่มเติมถึงโครงการอบรมครูสอนภาษาอาหรับและวัฒนธรรมอาหรับว่า เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศที่สำคัญ เนื่องจากประเทศซาอุดิอารเบียเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมอิสลาม ภาษาอาหรับนอกจากจะเป็นภาษาหลักในการศึกษาศาสนาอิสลามของมุสลิมทั่วโลกแล้ว ยังเป็นภาษาหนึ่งของสหประชาชาติและประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร การธุรกิจ และจากพื้นฐานความสัมพันธ์ครั้งนี้จะเป็นฐานขยายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอารเบียให้แน่นแฟ้นดังเช่นอดีตและพัฒนายิ่งขึ้นในอนาคต
****************
|