ฉบับที่ 40/2536 30 เมษายน 2536
ประเมินผลโครงการความร่วมมือระหว่าง มอ. กับ WSU
นักศึกษาจาก Washington State University (WSU) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโครงการความร่วมมือทางวิชาการ
ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับ WSU มีความพอใจและประทับใจที่ได้มาศึกษาและสัมผัสขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิต
ของคนไทยโดยเฉพาะที่ภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตกลงทำความร่วมมือกับ Washington State University (WSU) โดยมีการลงนาม
ในสัญญาความร่วมมือเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 และในปีนี้ WSU ได้จัดส่งนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 9 คน มาศึกษาหลักสูตรระยะสั้นที่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยในช่วงแรกเข้าศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม - 23 กุมภาพันธ์ 2536 และเข้าศึกษา
ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 12 เมษายน 2536
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยและ
บุคคลภายนอก พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมสัมพันธ์กับนักศึกษาไทย สำหรับ
หลักสูตรระยะสั้นที่เรียนที่วิทยาเขตปัตตานี มีการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนและการเรียนการสอนในภาคสนาม (Field trip) โดยมี
คณาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นผู้สอน รายวิชาที่จัดให้นักศึกษาเรียนที่วิทยาเขตปัตตานีคือ
- ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน (Survival Thai I)
- ขนบประเพณีและวิถีชีวิตของชาวเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Customs and Way of Life)
- ประวัติศาสตร์และสังคมของชาวเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian History and Society)
ก่อนจะเสร็จสิ้นโครงการ ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดทำแบบประเมินผลโครงการ
ดังกล่าว โดยจัดทำเป็น 4 รูปแบบคือ
ชุดที่ 1 นักศึกษาประเมินโปรแกรมการศึกษาในภาพรวม
นักศึกษามีความพอใจในเนื้อหาวิชาที่มหาวิทยาลัยจัดให้มาก เพราะได้รับความรู้ความเข้าใจประเทศไทย/คนไทย/ภาษาไทย
ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของสังคมไทย และโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนภาคสนามนั้น นักศึกษามีความพอใจที่สุด เพราะ
ได้ศึกษาและสัมผัสกับสังคมไทยอย่างแท้จริง
ด้านสถานที่เรียน/การจัดต้อนรับ นักศึกษามีความพอใจมาก ในส่วนความคิดเห็นเพิ่มเติมนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นว่า
การจัดตารางการเรียนการสอนแน่นมากเกินไป โดยเฉพาะวิชาภาษาไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง และนักศึกษาบางคนมีความเห็นว่า
ในแต่ละรายวิชาควรมีอาจารย์ผู้สอนเพียงหนึ่งคนต่อหนึ่งวิชา เพื่อให้เกิดบูรณาการและไม่ซ้ำซ้อน
ชุดที่ 2 อาจารย์ผู้สอนประเมินนักศึกษา
อาจารย์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้ดีและจะมีความกระตือรืนร้น ใฝ่หาความ
รู้ทั้งในชั้นเรียนและภาคสนาม โดยเฉพาะในภาคสนามจะมีความพอใจมาก
อาจารย์หลายท่านได้ให้ข้อคิดเห็นว่า นักศึกษาที่มาศึกษาหลักสูตระยะสั้นนี้ ควรจะมีพื้นความรู้ที่คล้ายกัน เพราะจะได้ง่ายต่อ
การจัดการเรียนการสอน
ชุดที่ 3 นักศึกษาประเมินครอบครัวอุปถัมภ์
นักศึกษามีความพอใจและประทับใจครอบครัวอุปถัมภ์ที่ตนอาศัยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของครอบครัว ความสัมพันธ์กับ
สมาชิกในครอบครัว การได้รับความดูแลเอาใจใส่ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องพัก อาหาร และอื่น ๆ และนักศึกษาส่วนใหญ่มีความ
ประสงค์จะอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ตลอดทั้งโปรแกรม แต่ก็มีนักศึกษาบางคนประสงค์จะอยู่หอพักชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจะได้คุ้นเคยกับ
นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ชุดที่ 4 ครอบครัวอุปถัมภ์ประเมินนักศึกษา
ครอบครัวอุปถัมภ์ทั้ง 9 ครอบครัว มีความพอใจและประทับใจนักศึกษาที่ตนรับเข้าอาศัยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์
ระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับนักศึกษา ความประพฤติของนักศึกษา และทุกครอบครัวปรารถนาที่จะรับนักศึกษาต่างชาติอยู่ด้วยอีกใน
โอกาสต่อไป
*****************
|