ด้วยความผูกพันในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ความรักในดนตรี และความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ผนวกกับภารกิจหลัก
หนึ่งในสี่ประการของมหาวิทยาลัยคือ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทำให้หนังจรัส ชูชื่น ศ. พร้อมน้อย ตะลุงสากล ก่อตั้งขึ้นและ
แสดงให้ประชาชนในภูมิภาคได้รับสาระและบันเทิงมาตลอด 6 ปี จนทำให้ผู้คนได้รู้จักคณะหนังตะลุงของมหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์
นายหนังจรัส ชูชื่น ศ. พร้อมน้อย ตะลุงสากล ชื่อจริงคือ คุณจรัส ชูชื่น เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับ 8
เลขานุการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ฟื้นความหลังให้ฟังว่าจากการ
ที่เป็นคนอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความบันเทิงที่ได้รับในวัยเยาว์เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา มีอยู่เพียง 2 อย่างคือ หนัง
ตะลุงและมโนรา อาจจะมีหนังกลางแปลงเข้ามาฉายให้ดูบ้างก็นับครั้งได้ วิทยุก็ไม่ค่อยมี โทรทัศน์นั้นไม่ต้องพูดถึง เมื่อมารับ
ราชการครั้งแรกที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ก็ได้พบเพื่อนข้าราชการที่มีภูมิหลังคล้ายคลึงกัน มีความชอบในหนังตะลุง
เหมือน ๆ กัน ใครมีเครื่องดนตรีอะไรก็หยิบจับมาเล่นกันและได้ฝึกเล่นหนังตะลุงคนเป็นหนังตะลุงนอกรูปแบบ จากการที่เล่น
สนุกสนานกันเอง ก็ขยับขยายมาเล่นให้คนดูในโอกาสงานวันครูบ้าง เล่นที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง กระทั่งในปี 2524
ก็ได้โอนมารับราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทราบว่ามหาวิทยาลัยมีภารกิจหลักประการหนึ่งคือ การทำนุบำรุง
ศิลปวัฒนธรรม ก็ได้รวมกลุ่มกับบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณเฉลิม แก้วพิมพ์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้ฝึกเล่นหนังตะลุงอย่าง
เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
งานแรกที่เล่นเนื่องจากนายอำเภอวินัย มงคลธาร นายอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ขอให้ไปเล่นในงานวันผลไม้
อำเภอยะรัง ก็มีเพื่อน ๆ หัวหน้าส่วนราชการประมาณ 10 คน มานั่งดูเป็นกำลังใจ ในขณะที่วงดนตรีลูกทุ่งที่แสดงอยู่ใกล้ ๆ
มีคนดูอยู่ร่วมพันคน เล่นหนังได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็ทำท่าจะไม่ไหว ก็พยายามเล่นต่อจนครบ 2 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถเล่น
ต่อไปได้ หลังจากนั้นก็ได้กลับมาคิดว่าเราต้องมีครู การคิดเอง ทำเอง มันไม่เป็นกระบวน เพราะการเล่นหนังตะลุงเป็นการใช้
ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมกันมานาน มีรายละเอียดและความเชื่อ ตลอดทั้งขนบนิยมมากมาย กระทั่งว่าโรงหนังตะลุงจะต้อง
ปลูกหันหน้าไปทางทิศไหน ขึ้นโรงหนังต้องทำอะไร เบิกโรงทำอย่างไร ออกฤาษีต้องกล่าวอะไร ครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นมนต์
ภายหลังจึงทราบว่านั่นเป็นพระเวทย์ พระเวทย์เป็นโองการที่ขึ้นประโยคด้วย "โอม" ถ้าจะเข้าใจให้ละเอียดต้องไปศึกษาจาก
อาถรรพ์พระเวทย์ ในมโนทัศน์ของคนทั่วไปยังเข้าใจว่าเป็นมนต์ฤาษีบทตั้งธรณีสาร จึงทราบว่าที่เรารู้มาเล่นมานั้นไม่ถูกต้อง
ไม่ถูกขนบนิยม ทั้งนี้เพราะเราไม่มีครู จึงตั้งใจว่าจะต้องศึกษาและต้องมีครู จนเอาไปฝันว่าหนังกั้น ทองหล่อ ศิลปินแห่งชาติ
จังหวัดสงขลา มาสอนหนังตะลุงให้ก็รู้สึกดีใจมาก พอตื่นขึ้นมาก็ตกใจจนเหงื่อแตกคิดว่า เราจะต้องตายหรือเปล่า เพราะนาย
หนังกั้นเสียชีวิตไปแล้ว"
คุณจรัส ชูชื่น เล่าต่อไปว่าในปี 2536 กองทัพภาคที่ 4 ได้จัดสัมมนาเรื่อง อาณาจักรศรีวิชัย โดยมอบหมาย
ให้ตนเองเป็นคนเขียนโครงการและเป็นเลขานุการโครงการ จัดสัมมนาศิลปินพื้นบ้าน โดยเชิญหัวหน้าคณะหนังตะลุง มโนราห์
และการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ จากทั่วภาคใต้ มาสัมมนาที่ ม.อ. ปัตตานี มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาถึง 109 คน ในภาคกลางคืน
ก็มีการนำสาระสำคัญของการสัมมนามาแสดงหนังตะลุง เพื่อให้ผู้ชมซึมซับความมีคุณธรรมตามยุคศรีวิชัย ดังคำว่า "เงินทอง
ของใครทำหล่นไว้ตรงไหน สามวันสี่วันกลับไปยังอยู่ที่เดิม"
จากความตั้งใจที่จะสมัครเป็นศิษย์หนังพร้อมน้อยตะลุงสากล ในระหว่างที่เดินทางไปเชิญศิลปินให้เข้าร่วมสัมมนา
โครงการศรีวิชัย ก็ได้ขอให้ ผศ. มะเนาะ และ รศ. วันเนาว์ ยูเด็น ที่เดินทางไปด้วยกัน ได้ฝากให้เป็นศิษย์ของหนังพร้อมน้อย
และหลังจากท่านได้รับเป็นศิษย์แล้ว ก็ได้กำหนดให้ไปทำพิธีครอบมือตามแบบอย่างหนังตะลุงที่ ห้องอาหารครัวตาหลำ อำเภอ
เมือง จังหวัดพัทลุง ซึ่งที่นี่มีรูปปั้นตาหลำตัวตลกเอกของหนังพร้อมน้อย จึงทำพิธีครอบมือกันตรงนั้น หลังจากนั้นท่านได้ให้
ติดตามไปดูท่านเล่นหนังตะลุงบ้าง นำม้วนเทปหนังตะลุงมาให้ศึกษาบ้าง สอนการอภิปรายหน้าบท สอนพระเวทย์ฤาษี ให้คาถา
เปิดปากรูป คาถาปลุกรูป และยังบอกด้วยว่าหากสามารถท่องอิติปิโสถอยหลังได้เมื่อไร จะสอนความรู้ทุกอย่างให้ หลังจากเริ่ม
เล่นเป็นเรื่องตามแบบแผนในปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 ก็ยังไม่กล้าประกาศชื่อว่าเป็นหนังจรัส ชูชื่น ยังคงใช้ชื่อว่าหนังมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ เพราะยังเจียมตัวและเกรงว่าอาจทำให้อาจารย์เสียชื่อเสียงหากเล่นได้ไม่ดี จนมีประสบการณ์พอสมควร อาจารย์
พร้อม (นายหนังพร้อมน้อยตะลุงสากล) ก็ให้ไปทำพิธีครอบครู โดยอาจารย์พร้อมไปปลูกโรงหนังตะลุงที่ตำบลนาปะขอ อำเภอ
เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นที่ที่หนังพร้อมน้อยปลูกโรงหนังตะลุงขึ้นเป็นครั้งแรกในการฝึกเล่นหนังตะลุง โดยอาจารย์บอกว่า
ที่ตรงนี้เป็นที่ดีที่งอกงาม แล้วให้ศิษย์ทั้ง 30 คน ขึ้นไปทำพิธีครอบครูบนโรงหนังตะลุง และในโอกาสนี้จึงได้ขออนุญาตจาก
อาจารย์ ขอใช้ชื่อว่า "หนังจรัส ชูชื่น ศ. พร้อมน้อย ตะลุงสากล" ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่าอนุญาต อาจารย์ได้ติดตามตลอดและทราบ
ว่าพอจะเล่นหนังตะลุงได้แล้ว อาจารย์พร้อมยังได้สอนว่าการเล่นหนังตะลุงเรื่องอะไร ต้องรู้ให้จริงในทุกเรื่องที่เล่น ปัจจุบันหนัง
จรัส ชูชื่น ศ. พร้อมน้อย ตะลุงสากล เล่นหนังตะลุงตามรูปแบบอย่างถูกต้องมาตลอด 6 ปี ร่วม 400 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการ
เล่นในงานบุญตามวัดต่าง ๆ และเป็นการเล่นเพื่อการกุศล โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีงบประมาณให้ดำเนินการเฉลี่ยปีละ
แสนบาท เพื่อใช้เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่นายหนังตะลุงและลูกคู่ สำหรับรูปหนังตะลุงและเครื่องขยายเสียงนั้น ได้รับการสนับสนุน
งบประมาณจากคุณธวัชชัย สัจจกุล โดยผ่านการติดต่อมาทางคุณอัศวิน หะวิเกตุ นายหนังจรัส ชูชื่น ศ. พร้อมน้อย ตะลุงสากล
กล่าวว่าสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจคือได้แสดงหนังตะลุงคน ซึ่งเรียกว่าระบำศิลปาชีพหน้าพระที่นั่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแปรพระราชทานมาประทับ ณ พระตำหนัก
ทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยมีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดปัตตานีร่วมแสดง โดย
คุณจรัส ชูชื่น ได้ทำหน้าที่พากษ์และครั้งล่าสุดได้แสดงให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 12
ธันวาคม 2543 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงในนามผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้ โดยแสดงหนังตะลุงคนและทราบ
จากผู้ช่วยศาสตราจารย์หม่อมหลวงปาณฑิตย์ ภาณุมาศ ว่าพระองค์ทรงชมและกล่าวว่าตัวไอ้เท่งที่ไม่ใส่เสื้อ น่าจะวาดรูปซี่โครง
และรูปสะดือให้เห็นชัด ๆ ด้วย ความภาคภูมิใจประการต่อมาคือ ได้นำความบันเทิงไปสู่ประชาชนในภูมิภาคด้วยการเล่นหนังตะลุง
การกุศลตามสถานที่ต่าง ๆ และยังได้สอดแทรกสาระความรู้ที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมและที่ขาดไม่ได้คือ การประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ ประชาสัมพันธ์สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ที่เป็นหน่วยงานที่คณะหนังตะลุง อาจารย์จรัส สังกัดอยู่
นายหนังจรัสกล่าวต่อไปว่า คงจะเล่นหนังตะลุงให้กับมหาวิทยาลัยพร้อมกับปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำไปจนเกษียณอายุ
ราชการ ถึงแม้จะมีความรักในหนังตะลุงจนเข้าถึงจิตวิญญาณ ก็อาจจะต้องหยุดเล่น เพราะการจะสร้างอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือขึ้น
มาเองนั้น ต้องใช้งบประมาณสูงมาก สิ่งที่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ หากจะส่งเสริมหนังตะลุงให้คงอยู่ ก็สามารถทำได้ด้วยการช่วยกัน
ไปดูไปชมการแสดงหนังตะลุงที่มาแสดงใกล้บ้าน ช่วยตรงนี้ได้ก็ถือว่าเป็นการช่วยอนุรักษ์ ส่งเสริมหนังตะลุงแล้ว หนังตะลุงไม่ว่า
คณะไหนถ้าแสดงแล้วไม่มีคนดู สุดท้ายแล้วก็ต้องยุติบทบาท ต่อไปก็จะเหลือแต่เพียงตำราไว้ให้เรียนเท่านั้น
******************
|