ผลการสำรวจทัศนคติทางการเมืองของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ นายชวน หลีกภัย ยังครองใจและพรรคไทยรักไทยมาแรง
เบียดความหวังใหม่
ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) เปิดเผยในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีการสำรวจทัศนคติทางการเมืองในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อ
วันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ทางการเมืองช่วงใกล้เวลาเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นฐาน
เสียงที่สำคัญของพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่ แต่พบว่าในสถานการณ์ปัจจุบันกระแสความนิยมของ
ประชาชนในพื้นที่นี้ มีพรรคใหม่เบียดตัวแทรกเข้ามาเป็นตัวแปรที่สำคัญทางการเมืองคือ พรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
เป็นหัวหน้าพรรค
ทั้งนี้ ดร. ศรีสมภพ ระบุว่าจากผลการสำรวจทัศนคติทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้คือ สงขลา สตูล
ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์ฯ ที่ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7 - 11 สิงหาคม 2543 จากจำนวนกลุ่ม
ตัวอย่างทั้งหมด 600 ตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51.5) ยังคงต้องการให้ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีในการ
เลือกตั้งครั้งหน้า และมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ร้อยละ 23.7) ได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับสอง โดยทิ้งห่าง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ซึ่งได้ลำดับที่ 3 (ร้อยละ 8.8) นอกจากนี้จากผลการสำรวจพบว่าพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุด ยังคงเป็นพรรค
ประชาธิปัตย์ (ร้อยละ 51.8) โดยมีพรรคความหวังใหม่และพรรคไทยรักไทย ได้คะแนนนิยมเท่ากัน (ร้อยละ 18.3)
"จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าพรรคไทยรักไทย จะมีคะแนนนิยมในสัดส่วนที่เท่ากับพรรคความหวังใหม่ แต่หาก
พิจารณาจากสัดส่วนคะแนนนิยมในตัวบุคคลซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว พ.ต.ท. ทักษิณ จะมีคะแนนนิยมที่ทิ้งห่าง พล.อ. ชวลิต ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการประเมินผลงานของรัฐบาลของนายชวนในปัจจุบัน อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรค
ประชาธิปัตย์สูญเสียความนิยม ทำให้พรรคไทยรักไทยและความหวังใหม่สามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างคะแนนนิยมจากตัวแปรนี้ได้ไม่
ยากนัก" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์ฯ กล่าว
"นอกจากนี้จากการสำรวจทัศนคติทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว ยังพบอีกว่าปัญหา
ที่เร่งด่วนที่สุดในท้องถิ่นที่กลุ่มตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลแก้ไข อันดับแรกคือ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ อันดับสองปัญหาการว่างงาน
และอันดับสามคือ ปัญหายาเสพติด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญสำหรับการทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นและความนิยมทางการเมือง มิใช่อยู่ตรงที่ ณ ปัจจุบันนี้
ใครแพ้หรือชนะ แต่อยู่ที่โอกาสความเป็นไปได้ในอนาคตที่ฝ่ายเสียเปรียบจะแย่งชิงคะแนนเสียงที่ไม่แน่นอนมาด้วยกลวิธีทางการเมือง และ
โอกาสที่ฝ่ายที่มีคะแนนนิยมนำอยู่แล้วจะรักษาระดับคะแนนนิยมของตัวเองไปจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งจริง" ดร. ศรีสมภพ กล่าว
******************
|