รายละเอียด :
|
เรือกอและมิใช่เป็นเพียงเรือประมงชายฝั่งที่เป็นเครื่องมือทำกินของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดภาคใต้เท่านั้น แต่เรือกอและ
ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะที่คู่ควรแก่การทะนุบำรุงและอนุรักษ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษาวิจัยและ
รวบรวมสุนทรียศิลป์ของเรือกอและ โดยได้จัดพิมพ์เป็นตำราวิชาการและนิทรรศการ และคาดหวังว่าผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาครัฐ
จะร่วมกันคงเรือกอและไว้สืบไป
ผศ. วุฒิ วัฒนสิน แผนกวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของ
ผลงานวิจัยลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ ชี้แจงว่างานวิจัยนี้มุ่งศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของเรือกอและ วัฒนธรรมการตกแต่ง
ลวดลายจิตรกรรม และวิเคราะห์ลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและประเภทปาตะกือระ (เรือกอและประเภทท้ายตัด) ในจังหวัดปัตตานี
โดยผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ การสังเกต การศึกษาจากเอกสาร และการบันทึกภาพ แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยหลักการจัด
องค์ประกอบศิลป์
ผลของการวิจัยสันนิษฐานได้ว่า เรือกอและน่าจะเกิดขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย แต่เดิมเรือกอและใช้ในการทำศึกสงคราม
ปัจจุบันใช้เป็นพาหนะในการเดินทางและการประมง ส่วนประกอบของเรือที่สำคัญคือ ลำเรือ กระดูกงู กง กราบเรือ และอุปกรณ์
ประจำเรือ วิธีการต่อเรือกอและประเภทปาตะกือระ มีขั้นตอนสำคัญคือการเตรียมสถานที่ต่อเรือ ช่างต่อเรือ ไม้และเครื่องมือที่ใช้ใน
การต่อเรือ การต่อเรือจะเริ่มจากการตั้งกระดูกงู การต่อลำเรือ การวางกง การวางโครงเรือ การปิดส่วนหัวและส่วนท้าย การทำส่วน
ประกอบต่าง ๆ และการอุดรอยรั่วของลำเรือ
การตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและสันนิษฐานว่า คงจะเริ่มมีขึ้นเมื่อไม่เกิน 1 ศตวรรษที่ผ่านมา การตกแต่ง
ลวดลายเริ่มจากการแกะสลัก การฉลุลายและระบายสีตามลำดับ ส่วนประกอบของเรือกอและที่มีการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมได้แก่
กราบเรือด้านบนและด้านล่าง ดาวะปาลอ (ใบหัวเรือ) บางา จาปิง และแนแบงเดะ (ส่วนประกอบที่ปิดช่วงหัวเรือกับส่วนลำเรือ)
ซางอ (ส่วนประกอบที่วางเสากระโดงเรือหางเสือเรือ) ท้ายเรือภายใน ท้ายเรือภายนอก และรอแย (ส่วนประกอบที่ใช้ยึดกับหางเสือ)
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือประกอบด้วย แปรงทาสี พู่กันแบน ดินสอ ภาชนะใส่สี น้ำมันก๊าด ผ้าเช็ดสี
จานสี และสีน้ำมันกระป๋อง ขั้นตอนการตกแต่งเริ่มจาก การรองพื้นสี การร่างภาพ และการระบายสี
ลวดลายจิตรกรรมที่ตกแต่งบนเรือกอและประเภทปาตะกือระ เป็นวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างศิลปะไทย ศิลปะอิสลาม
และศิลปะจีน ลวดลายส่วนใหญ่เป็นลวดลายพรรณไม้แบบเถาเลื้อยและลายหน้ากระดาน ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นภาพสัตว์ใน
จินตนาการของจีน ภาพสัตว์น้ำ และภาพทิวทัศน์
ผลการวิจัยที่ศึกษาลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและประเภทปาตะกือระในจังหวัดปัตตานีพบว่า
การจัดองค์ประกอบของลวดลายจิตรกรรมส่วนใหญ่มีความสมดุลแบบเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง
จุดเด่นคือลวดลายจิตรกรรมจะอยู่บนกราบเรือด้านล่าง ในขณะที่จุดเด่นรองจะมีอยู่บนดาวะปาลอ
การเคลื่อนที่ของสายตาส่วนใหญ่ เคลื่อนที่โดยมีทิศทางในแนวนอน
ลวดลายจิตรกรรมส่วนใหญ่มีความเป็นเอกภาพและมีความกลมกลืนกันของเส้น รูปร่าง ขนาด และสี
วัฒนธรรมการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือและประเภทปาตะกือระ ช่างตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและส่วน
ใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมที่อาศัยในเขตอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี ในจังหวัดปัตตานี ในการตกแต่งเรือ วัสดุ
อุปกรณ์ในการวาดลวดลายจิตรกรรมมีดังนี้คือ แปรงทาสี พู่กันแบน ดินสอ ภาชนะใส่สี น้ำมันก๊าด ผ้าเช็ดสี จานสี และสีน้ำมัน
กระป๋อง
การตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ มีการตกแต่งด้วยการฉลุแล้ววาดลวดลายจิตรกรรมเพื่อความงามวิจิตรด้วย
สีน้ำมัน ส่วนประกอบที่นิยมฉลุลายและวาดลวดลายจิตรกรรมได้แก่ กราบเรือด้านบน กราบเรือด้านล่าง ดาวะปาลอ บางา จาปิง
และแนแบงเดะ ซางอ ท้ายเรือภายใน ท้ายเรือภายนอก และรอแย
การวาดลวดลายบนเรือกอและเริ่มจากการรองพื้นสี ส่วนใหญ่ใช้สีแท้อันได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียวรองพื้น 3 ชั้น
ต่อไปจึงร่างภาพด้วยสีขาวหรือสีอ่อน (แต่ส่วนประกอบที่เป็นบางา จาปิง แนแบงเดะ ซางอ ดาวะปาลอ และรอแย จะร่างด้วยดินสอ)
การระบายสีในรายละเอียดจะใช้สีน้ำมันกระป๋อง ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสีเคลือบสังเคราะห์ โดยทั่วไปจะใช้ 9 สี ดังนี้คือ สีกลุ่มที่ 1
สีขาว สีดำ สีกลุ่มที่ 2 สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีกลุ่มที่ 3 สีเขียวอ่อน สีชมพู สีเหลืองอ่อน สีฟ้า การระบายสีลวดลาย
จิตรกรรมจะเริ่มจากการลงสีกลุ่มที่ 3 เป็นสีพื้นก่อน ปล่อยให้แห้งแล้วลงสีกลุ่มที่ 2 ในส่วนเงา ปล่อยให้แห้งจึงลงสีกลุ่มที่ 1 โดย
ลงสีขาวในส่วนของแสงจัดแล้วลงสีดำในส่วนที่ต้องการตัดเส้น ส่วนภาพทิวทัศน์และภาพสัตว์น้ำ จะมีการระบายสีและให้น้ำหนัก
อ่อนแก่ โดยใช้วิธีการเกลี่ยสีให้กลมกลืนกัน
ลวดลายที่นำมาตกแต่งบนเรือกอและได้แก่ลวดลายไทยเช่น ลวดลายกระจัง ลวดลายดอกพุดตาน ลวดลายประจำยาม
ลวดลายหน้ากระดาน ลวดลายรักร้อย ลวดลายก้านขด ลวดลายกนก 3 ตัว ลวดลายน่องสิงห์หรือแข้งสิงห์ และลวดลายนกคาบ
ลวดลายจีนเช่น ลวดลายหน้ากระดาน ลวดลายเรขาคณิต และลวดลายพรรณไม้ ลวดลายอิสลามเช่น ลวดลายอักษรประดิษฐ์
ลวดลายพรรณไม้แบบเถาเลื้อย และลวดลายเรขาคณิต
จิตรกรรมที่นำมาตกแต่งบนเรือกอและได้แก่ ภาพสัตว์น้ำ เช่น ภาพปู ปลา กุ้ง และปลาหมึก ภาพสัตว์ในจินตนาการ
จากประเพณีเช่น ภาพนกกาเฆาะซูรอ นกกรุดา (นกครุฑ) นกบือเฆาะมาส (นกยูง) และนกบุหรงซีงอ (นกสิงห์, นกไกรสรปักษา)
ภาพสัตว์ในจินตนาการจากศาสนา เช่น ภาพหงส์ ภาพสัตว์ในจินตนาการจากศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เช่น ภาพตัวหนังวายังเซียม
ภาพสัตว์หิมพานต์ของไทย เช่น ภาพสิงห์ คชสิงห์ สิงหรามมังกร ไกรสรราชสีห์ ไกรเทพ สิงหะ หนุมาน นาค นาคปักษิณ
เหราพด มัจฉานาคา เงือก และมังกรสกุณี ภาพสัตว์จินตนาการของจีนเช่น ภาพมังกร กิเลน นกยูง และนกกระเรียน ภาพทิวทัศน์
เช่น ภาพทิวทัศน์บกและทิวทัศน์ทะเล และจะมีการเขียนชื่อของเรือเป็นภาษาไทยบนกราบเรือด้านล่าง
ผลของการวิเคราะห์ลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและประเภทปาตะกือระ ด้วยหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์
การตกแต่งลวดลายบนเรือกอและประเภทปาตะกือระ ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลวดลายพรรณไม้แบบเถาเลื้อย (อิทธิพล
ศิลปะอิสลาม) รองลงมาคือลวดลายหน้ากระดาน
การตกแต่งจิตรกรรมบนเรือกอและประเภทปาตะกือระ ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยภาพสัตว์ในจินตนาการได้แก่ มังกร มังกร
สกุณี นกกาเฆาะซูรอ สัตว์น้ำ และภาพทิวทัศน์
ความสมดุล ส่วนใหญ่มีการจัดองค์ประกอบของลวดลายจิตรกรรมแบบสมดุลเหมือนกันทั้งสองข้าง (symmetrical
balance) จุดเด่น (dominance) ส่วนใหญ่คือลวดลายจิตรกรรมบนกราบเรือด้านล่าง จุดเด่นรอง (sub dominance)
ส่วนใหญ่คือลวดลายจิตรกรรมบนดาวะปาลอ
ผศ. วุฒิ วัฒนสิน เจ้าของผลงานวิจัยลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ ได้ฝากข้อเสนอแนะไปยังผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงาน
ภาครัฐว่า ในส่วนของผู้สอนวิชาการประดิษฐ์เรือกอและจำลอง ในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 หมวดการงานอาชีพ วิชา
ช 0194 ช่างประดิษฐ์สิ่งจำลอง (เรือกอและจำลอง) ครูผู้สอนควรกำหนดเนื้อหาให้ครอบคลุมด้านประวัติและวิวัฒนาการของเรือกอและ
ความรู้เกี่ยวกับเรือกอและ วัฒนธรรมตกแต่งลวดลายบนเรือกอและ และในภาคปฏิบัติควรให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝนพื้นฐานในการวาด
ภาพ ระบายสี ลวดลายไทย ลวดลายพรรณไม้แบบเถาเลื้อย สัตว์หิมพานต์ สัตว์ในจินตนาการของจีน ภาพสัตว์น้ำ และภาพทิวทัศน์
ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และเพื่อการพัฒนาการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและให้ดียิ่งขึ้น
นักวิจัย : การศึกษาลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและในครั้งนี้ มุ่งศึกษาเฉพาะเรือกอและประเภทปาตะกือระในจังหวัด
ปัตตานี ผู้วิจัยคิดว่าน่าจะมีการศึกษาเกี่ยวกับลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและในแหล่งอื่น ๆ ของจังหวัดภาคใต้ด้วย อันได้แก่จังหวัด
นราธิวาส สตูล สงขลา นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทั้งนี้อาจรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านคือ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียและประเทศ
อินโดนีเซีย โดยศึกษาในแง่ของการเปรียบเทียบ การคลี่คลายและการเปลี่ยนแปลง และน่าจะมีการศึกษาถึงวิธีการในการสืบสานมรดก
ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและในโอกาสต่อไป
ผู้ว่าจ้างต่อเรือกอและ : ด้วยกระแสทางเศรษฐกิจที่พัดกระหน่ำความเป็นอยู่ของช่างต่อเรือและช่างเขียนพื้นบ้าน จน
สุดที่จะทนทานต่อการผดุงวัฒนธรรมการต่อเรือและการตกแหน่งลวดลายบนเรือกอและเอาไว้ ราคาในการต่อเรือกอและแต่ละลำ ควร
มีการปรับสูงขึ้นตามระดับค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย เพราะหากรายจ่ายไม่สมดุลกับรายรับ ช่างต่อเรือกอและและช่างเขียนที่เหลืออยู่
เหล่านี้ จำต้องเลือกหนทางในการยังชีพทางอื่นแล้วทอดทิ้งให้วัฒนธรรมทางศิลปะชิ้นนี้กลายเป็นตำนานไป ซึ่งจะเป็นที่น่าเสียใจ
เป็นอย่างยิ่ง
หน่วยงานภาครัฐ : เนื่องจากเรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้กันมากแถบชายฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ชาวไทยมุสลิม
ได้ใช้ประโยชน์จากเรือกอและมาเป็นเวลายาวนานเช่น ปฏิบัติการเป็นเรือลาดตระเวนเพื่อปกป้องเอกราชชาติไทย เป็นเรือขนส่งสินค้า
เรือเพื่อการติดต่อค้าขาย เป็นเรือที่อยู่คู่กับน่านน้ำในเขตชายแดนภาคใต้ เรือกอและมิใช่เป็นเรือประมงธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่เป็นเรือ
ที่มีเอกลักษณ์มีการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมสัมพันธ์ของศิลปะไทย ศิลปะอิสลาม และศิลปะจีน ที่มีความ
กลมกลืนสวยงามตระการตาเป็นอย่างยิ่ง สมควรที่หน่วยของรัฐจะให้ความสนใจ สนับสนุน และประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ ทั้งนี้
เพื่อการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมชิ้นนี้ไว้ให้ลูกหลานไทยได้เห็น เพื่อจะได้เกิดความภาคภูมิใจในมาตุภูมิของตน เพราะเกรงว่าเรือ
กอและที่จะพบเห็นในอนาคต จะเป็นเพียงเรือกอและจำลองลำเล็ก ๆ ที่วางประดับในตู้เท่านั้น
ผลงานวิจัยลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ : ได้รับรางวัลผลงานวิจัยภาคบรรยายดีเด่น สาขาศึกษาศาสตร์ มนุษย
ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดสัมมนาเฉลิมพระเกียรติผลงานวิจัยภาคใต้ เมื่อวันที่ 28
สิงหาคม 2542 ปัจจุบัน ผศ. วุฒิ วัฒนสิน ได้นำผลงานวิจัยลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและ จัดทำเป็นนิทรรศการไปเผยแพร่
ยังสถาบันอุดมศึกษาในทุกภูมิภาคอาทิ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาคารเรียนรวม
วิทยาเขตปัตตานี และหอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้สนใจนิทรรศการดังกล่าวหรือต้องการศึกษา
รายละเอียดของผลงานวิจัยติดต่อได้ที่ ผศ. วุฒิ วัฒนสิน แผนกวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี 94000 E-mail : wwoothi@bunga.pn.psu.ac.th
*******************
|