รายละเอียด :
|
การพัฒนาวิชาการในภูมิภาคนี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมในท้องถิ่น เป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยภูมิภาค
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาการศึกษาอันเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและ
สังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเสมอภาคของประชาชน และเพื่อเป็นแหล่งบริการวิชาการชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง
วิทยาลัยอิสลามศึกษา ได้รับอนุมัติจัดตั้งในปี 2532 เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางการ
ศึกษา ศาสนา ศิลปะและวิทยาการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และตอบสนองความต้องการของชุมชนมุสลิมในการศึกษาศาสนาระดับสูงที่มี
คุณภาพและมีมาตรฐานที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ ปัจจุบันวิทยาลัยอิสลามศึกษาได้เปิดสอน 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาอิสลามศึกษา
สาขาวิชาครุศาสตร์อิสลาม และสาขาวิชากฎหมายอิสลาม นอกจากนั้นทางวิทยาลัยได้เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาอีก 1 สาขาคือ สาขา
วิชาอิสลามศึกษา โดยมีนักศึกษาจำนวน 224 คน มีอาจารย์และบุคลากร 35 คน และยังเป็นวิทยาลัยของรัฐแห่งเดียวในประเทศ เพื่อ
ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคมมุสลิมและประเทศ นอกจากนั้นยังมีภารกิจบริการชุมชนหลายอย่าง อาทิ การอบรมสัมมนา การ
บรรยายทางวิชาการ กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการยอมรับจากชุมชนในภูมิภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาวิชาการในภูมิภาคนี้ ให้สอด
คล้องกับวิถีชีวิตของสังคมในท้องถิ่น จึงให้การสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ทั้งในเรื่องผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย
ด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และด้านบริการวิชาการชุมชน จากหน้าที่ดังกล่าวเป็นผลให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา เล็งเห็นความสำคัญ
ของชุมชนจึงได้สร้างมัสยิดหรือศาลาละหมาดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย
อาจารย์หะสัน หมัดหมาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า
วิทยาลัยอิสลามศึกษาได้จัดสร้างมัสยิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจและกิจกรรมของนักศึกษาและเป็นศูนย์การ
บริการวิชาการแก่ชุมชนมุสลิมภายในมหาวิทยาลัยและใกล้เคียง โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 7,500,000 บาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน)
ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมอิสลามท้องถิ่นประยุกต์ รูปทรงแปดเหลี่ยม พื้นที่ภายในอาคารประมาณ 600 ตารางเมตร พื้นที่
รอบนอกประมาณ 1,470 ตารางเมตร ความจุของผู้ละหมาดประมาณ 400 - 500 คน ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2542
และได้ทำพิธีเปิดมัสยิดหรือศาลาละหมาด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี เป็นประธาน
โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมพิธีเปิด อาทิ ฯพณฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธาน
รัฐสภา นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี ดาโต๊ะนิอับดุลอาซิส บินนิมะ มุขมนตรีรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ศาสตราจารย์
มูฮำมัดตุลล่าห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกัมพูชา และคณะทูตานุทูตประเทศมุสลิม
ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวต่อไปว่าตามหลักศาสนาอิสลาม
แล้ว สถานที่ละหมาดหรือมัสยิดไม่ใช่เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเดียว มัสยิดยังมีบทบาทอีกหลายประการด้วยกัน มัสยิดเป็นศูนย์รวม
ของการปรึกษาหารือ เป็นสถานที่ศึกษาอบรมวิชาการอิสลามและวิชาชีพ เป็นสถานที่ฟูมฟักอีมาน (การศรัทธา) และเพิ่มพูนปัญญา มัสยิด
เป็นสมบัติสาธารณะไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง ทุกคนต้องมีหน้าที่ช่วยกันดูแลรักษา เมื่อมีมัสยิดหรือศาลาละหมาดแล้วก็ต้องมีคณะกรรมการ
ดำเนินการและบริหารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมกับเป็นมัสยิดที่อยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัย เช่น การจัดสำนักงาน การจัดเอกสาร
การจัดห้องสมุด และอื่น ๆ สามารถเป็นต้นแบบของมัสยิดอื่น ๆ ให้มาศึกษาดูงานและนำไปปฏิบัติไปใช้ในการบริหารงานมัสยิดต่อไป
นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี กล่าวว่ารู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นอาคารศาลาละหมาดแห่งนี้ เป็นศาลา
ละหมาดที่สวยสง่า พี่น้องทุกคนต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้อนุมัติเงินงบประมาณในการก่อสร้างศาลาละหมาดแห่งนี้ นับว่าเป็นความภาค
ภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องมุสลิม นอกจากนั้นแล้วเป็นสิ่งที่จะเชิดหน้าชูตาให้กับมหาวิทยาลัยเมื่อมีผู้มาเยือน
นอกจากนี้ ฯพณฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า "รู้สึกดีใจและปลื้มใจอย่างมาก
ที่ได้เห็นมัสยิดหรือศาลาละหมาดเกิดขึ้นภายในสถาบันการศึกษาและมีความเหมาะสม เพราะมัสยิดไม่ใช่สถานที่ประกอบศาสนกิจอย่างเดียว
แต่เป็นศูนย์รวมของการศึกษาอบรมวิชาการและเป็นสถานที่ทำกิจกรรมของนักศึกษาและชุมชน
วิถีชีวิตของสังคมในท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างตามความเชื่อศาสนา ขนมธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม แต่นโยบาย
หนึ่งของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยย่อมใช้การพัฒนาสังคม ณ ที่นี้ อยู่บนบรรทัดฐานของหลักการอิสลาม
เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของสังคมมุสลิม
*****************
|