รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนามหาวิทยาลัยอาเซียนต่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 4 ระหว่าง
วันที่ 16 - 18 มิถุนายน 2542 ณ โรงแรมซีเอส. อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
ครบ 6 รอบ โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ร่วมเป็นองค์ปาฐก
ผศ. ประพันธ์ วิเศษรัฐกรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าในวโรกาสที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ จึงรับเป็นเจ้าภาพในการสัมมนา THE ASEAN INTER - UNIVERSITY SEMINAR ON SOCIAL
DEVELOPMENT ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 16 - 18 มิถุนายน 2542 ณ โรงแรมซีเอส อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อร่วมเฉลิม
พระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบดังกล่าว ทั้งนี้โดยได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร. สุนทร
โสตถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดและนายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด
ปัตตานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา
ผศ. ดร. สุวิมล เขี้ยวแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงการ
สัมมนานานาชาติมหาวิทยาลัยอาเซียนกับการพัฒนาสังคมครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยครั้งที่ 1 จัดเมื่อปี 2536 ณ ประเทศ
มาเลเซีย ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2538 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2540 ณ ประเทศอินโดนีเซีย และครั้งที่ 4 ในปีนี้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รับเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นนักวิชาการจากภูมิภาคอาเซียน ยุโรป ออสเตรเลีย และ
สหรัฐอเมริกา ประมาณ 200 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิชาการชาวไทยประมาณ 50 คน ซึ่งนักวิชาการนานาชาติได้นำผลงาน
ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน รวมประมาณ 160 ผลงานนำมาเสนอด้วย
ในการสัมมนานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยอาเซียนต่อการพัฒนาสังคมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้จัด
โปรแกรมทัศนศึกษาให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ชมโบราณสถานของจังหวัดปัตตานี เขตอุตสาหกรรม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่
ของประชาชน โดยล่องเรือชมแม่น้ำปัตตานี ท่าเทียบเรือและอ่าวปัตตานี ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกลาง มัสยิดกรือเซะ
วัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.หนองจิก และเมืองโบราณยะรัง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากนานาชาติได้รับทราบประวัติ
ศาสตร์อันรุ่งเรืองของจังหวัดปัตตานี ได้เห็นสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนและเขตอุตสาหกรรม เส้น
ทางเดินเรือ ตลอดจนอ่าวปัตตานีที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี แถลงต่อสื่อมวลชนในโอกาสปาฐกถานำเรื่อง "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน
ศตวรรษที่ 21 ก้าวใหม่ที่สำคัญ : ความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง" ความว่าวิกฤติการณ์ทางสังคมเป็นวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั่วโลกและแก้ไขได้ยาก ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยที่ห่างกันมากขึ้นและไม่มีการแก้ไขเลย มีการทำลายสิ่งแวดล้อม
ทำลายจิตวิญญาณ ทำลายวัฒนธรรม ทั้งหมดนำไปสู่วิกฤติการณ์เช่น ความยากจน การต้องอพยพ ครอบครัวแตกแยก ชุมชน
แตกแยก เกิดความรุนแรงต่าง ๆ โสเภณี การละเมิดสิทธิเด็ก ความรู้สึกที่หมดหวัง ล้วนเป็นอาการวิกฤติการณ์ทางสังคมซึ่งจาก
ปัจจัยภายนอกเช่น ระบบเศรษฐกิจโลกที่มันเชื่อมโยงกันและอาศัยเงินเป็นใหญ่ อาจทำให้เกิดโกลาหล ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือ
ความอ่อนแอในประเทศของเราเช่น ความอ่อนแอทางการเมือง ราชการ การศึกษา ศาสนา ซึ่งแก้ไขได้ยาก ควรมียุทธศาสตร์
2 อย่างคือ
การเผชิญวิกฤติ ต้องทำเรื่อง Good Government หรือธรรมาภิบาลต้องปฏิรูปสังคมหลายอย่าง ต้องปฏิรูป
การเมือง ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปเรื่องสื่อ ปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้บ้านเมืองเราถูกต้อง ธรรมาภิบาลคือต้อง
ถูกต้องทุกระดับคือ ต้องซื่อสัตย์ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และมีความถูกต้องยุติธรรม เรื่องที่จะต้องทำต่อมาคือ
การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถพึ่งตนเองได้ ประการต่อมาคือ นำมิติทางวัฒนธรรมเข้าสู่การพัฒนา ข้อนี้
คนยังเข้าใจน้อย ที่จริงวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสู้ภัยวิกฤติและประการต่อมาที่ทำให้เราเผชิญวิกฤติได้คือ เศรษฐกิจพอเพียง
ยุทธศาสตร์ที่จะแก้วิกฤติการณ์ทางสังคมข้อที่ 2 คือเราจะต้องไปให้พ้นวิกฤติ เราจะไปตามโลกไปเรื่อย ๆ ไม่ได้
เพราะระบบโลกขณะนี้ทำให้วิกฤติได้ง่าย วันข้างหน้าก็วิกฤติอีกเพราะตัวระบบมันทำให้วิกฤติได้ เราต้องการการพัฒนาใหม่คิด
ใหม่ การคิดแบบเดิมที่ใช้เงินเป็นตัวตั้งทำให้เกิดวิกฤติ ขณะนี้การศึกษาของเรามุ่งเน้นวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เป็นที่ตัวมนุษย์กับ
ความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง เราต้องการการศึกษาใหม่ที่ทำให้เกิดปัญญาที่ไปพ้น ต้องการการศึกษาที่พัฒนาทางจิตวิญญาณ
เราต้องการการศึกษาที่ไปส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพราะความเข้มแข็งของชุมชนจะแก้ไขปัญหานานา
ชนิด ไม่ว่าเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ พร้อมกันไปหมดเราสามารถทำตำบลทั้ง 7,000
ตำบล ให้หายจนได้ไม่ยาก ที่รู้สึกว่ายากเพราะเราไม่เข้าใจ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และนักธุรกิจไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจ
และส่งเสริมตรงนี้ก็จะหายจนกันหมด เมื่อหายจนอำนาจซื้อก็จะเยอะ เศรษฐกิจโดยรวมก็จะดีเพราะฐานดี แต่ที่เรามาทำให้ข้างบน
ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยเข้มแข็ง แล้วข้างบนก็มาทำลายฐาน ขอให้คนไทยอย่าได้ท้อถอยหรือหมดหวัง พยายามทำความเข้าใจ เรา
สามารถแก้ไขวิกฤติได้ภายใน 10 ปี อย่าให้เกิดเรื่องรุนแรงถึงเลือดตกยางออก ทะเลาะกันบ้างก็ไม่เป็นไร ปรองดองไว้แล้วแก้ไข
ปฏิรูปให้ได้ ทำสังคมให้ดี แล้วเศรษฐกิจก็จะดี ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวต่อไปว่ารัฐบาลควรส่งเสริมการวิจัยใน 3 เรื่องใหญ่ ๆ เพื่อให้เกิดการ
ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ถ้าวิทยาศาสตร์พื้นฐานเราอ่อนแอ ประเทศชาติจะทำงานยาก ๆ ไม่ได้ การ
วิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่จำเป็น และเรื่องที่ 3 คือ วิจัยให้รู้วัฒนธรรมของทุกตำบลทุกหมู่บ้าน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการพัฒนา
สังคมและเศรษฐกิจ
******************
|