รายละเอียด :
|
นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประดิษฐ์เตาเผาถ่านกะลามะพร้าวจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น
และลดการตัดไม้ เป็นต้นแบบแก่ชาวบ้านนำไปผลิตได้ง่าย
นายประเสริฐ พืชผล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์เตาเผาถ่านกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีเป้าหมาย
เพื่อการพัฒนาชนบท ชี้แจงว่าเนื่องจากเห็นว่าจังหวัดปัตตานีมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวเป็นปริมาณมาก ผลผลิตที่ได้นอกจากนำไปจำหน่าย
เป็นมะพร้าวขูดเพื่อการประกอบอาหารแล้ว ก็นำไปทำน้ำมันมะพร้าว ส่วนกะลามะพร้าวก็เป็นวัสดุเหลือทิ้งไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
จึงได้คิดที่จะนำมาใช้เป็นถ่านเพื่อการหุงต้ม เนื่องจากถ่านกะลามะพร้าวมีคุณสมบัติให้ความร้อนสูงกล่าวคือ ถ่านจากกะลามะพร้าว
จะให้ความร้อนประมาณ 7,300 แคลอรี่ต่อกรัม ขณะที่ถ่านจากไม้โกงกางจะให้ความร้อนเพียงประมาณ 6,800 แคลอรี่ต่อกรัม
นอกจากนี้ถ่านจากกะลามะพร้าวยังติดไฟง่ายและไม่มีควัน หากนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็จะลดการตัดไม้จากธรรมชาติมาเป็นเชื้อ
เพลิงได้
เตาเผาถ่านที่ประดิษฐ์ขึ้น ตัวเตาใช้ถังน้ำมันหรือจารบีขนาด 200 ลิตร ที่มีผาปิดโดยจะนำมาเจาะรูทั้งสี่ด้านของถัง
รวม 8 รู (ด้านละ 3 รู 2 ด้าน และด้านละ 1 รู 2 ด้าน) แล้วเชื่อมต่อด้วยท่อเหล็กแป๊บ ขนาด 2 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว เพื่อเป็นช่อง
ให้อากาศเข้าไปช่วยในการเผาไหม้ โดยท่อเหล็กทุกท่อจะมีฝาเกลียวเปิดปิดได้ นอกจากนี้ในถังจะมีตะแกรงเหล็กสำหรับรองรับกะลา
มะพร้าวรวม 3 ชั้น ถอดประกอบได้ ตะแกรงดังกล่าวมีประโยชน์เพื่อไม่ให้น้ำหนักถ่านกะลามะพร้าวด้านบนกดทับลงไปยังถ่านด้าน
ล่าง จะทำให้ผลผลิตแตกหักละเอียด ไม่สะดวกในการนำไปใช้งาน
วิธีการใช้งานเตาเผาถ่านดังกล่าว ทำได้โดยการนำตะแกรงเหล็กชุดแรกวางไว้ก้นถัง เพื่อให้เป็นส่วนเก็บอากาศช่วยใน
การเผาไหม้ แล้วนำกะลามะพร้าววางซ้อนกันในถังให้เป็นระเบียบ เพื่อจะได้ใส่กะลาเป็นปริมาณมาก จากนั้นก็วางตะแกรงเหล็กชุดที่
2 และชุดที่ 3 สลับกับการวางกะลามะพร้าวจนกะลาล้นปากถัง ขั้นตอนต่อมาก็นำเศษผ้าชุบน้ำมันก๊าดใส่เข้าไปในท่อเหล็กด้านล่างสุด
ของถังท่อใดท่อหนึ่ง เพื่อเป็นตัวจุดฉนวนหลังจากจุดไฟที่เศษผ้าและไฟลุกไหม้กะลามะพร้าวดีแล้ว จะสังเกตเห็นว่ากะลามะพร้าว
บริเวณปากถังเกือบสุกเป็นถ่าน ก็ปิดฝาท่อให้อากาศจากท่อด้านล่างสุดขึ้นมาตามลำดับ และสุดท้ายก็ปิดฝาถังด้านบนเพื่อให้ไฟมอดดับ
ในที่สุด ทั้งนี้การเผากะลามะพร้าวให้เป็นถ่านจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที และหลังจากปิดฝาถังให้ไฟดับประมาณ 15 นาที ก็จะ
ได้ผลผลิตถ่านกะลามะพร้าวที่พร้อมจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้และปริมาณถ่านที่ได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 % ของปริมาณกะลา
มะพร้าวที่ใช้เผาถ่าน
เจ้าของผลงานเตาเผาถ่านกะลามะพร้าวชี้แจงว่า ต้นทุนในการผลิตเตาเผาถ่านตกประมาณ 700 บาท โดยเป็นค่าถัง
230 บาท นอกนั้นเป็นค่าตะแกรงเหล็กและค่าท่อแป๊บน้ำ ส่วนกะลามะพร้าวปัจจุบันเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรยังไม่มีการซื้อขาย
ส่วนถ่านที่ได้อาจจำหน่ายได้ในราคาเดียวกับถ่านจากไม้โกงกางที่กิโลกรัมละประมาณ 9 บาท ข้อดีของเตาเผาถ่านดังกล่าว นอกจาก
ผลิตได้ง่าย ต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่ายแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเตาเผาได้อีกด้วย ทั้งนี้หากเกษตรกรสนใจสิ่งประดิษฐ์เตา
เผาถ่านกะลามะพร้าวดังกล่าว สามารถขอดูต้นแบบและขอคำปรึกษาได้ที่ แผนกวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีและการ
อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
*****************
|