สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานรางวัลให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดเรียงความในงานวันรำลึกถึงสมเด็จย่า
นายวิภู ชัยฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ชนะเลิศการประกวดเรียงความระดับอุดมศึกษา ได้เข้ารับประทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง-
นราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2541 ในโอกาสที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัพเวอร์รี่เซ็นเตอร์ จัดประกวดเรียงความเนื่องใน
โอกาสวันรำลึกสมเด็จย่า
ข่าวศรีตรัง ขอนำเรียงความชนะเลิศระดับอุดมศึกษาของนายวิภู ชัยฤทธิ์ มาเสนอแด่ท่านผู้อ่านดังนี้
รางวัลที่ 1 (อุดมศึกษา)
เรียงความเรื่อง "คิดถึงสมเด็จย่า"
ในหน้าประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ ๆ มักมีคำนำหน้าแสดงเพศบุรุษเสียส่วนใหญ่ แต่นั่นก็มิได้แสดงว่าสตรีนั้นอ่อนแอ
เพราะแท้จริงแล้วหน้าที่อันยิ่งใหญ่ได้ตกอยู่กับสตรีเสมอมา หน้าที่ที่บุรุษมิอาจปฏิบัติได้ หน้าที่แห่งความเป็นแม่ หน้าที่ซึ่งหนักหน่วง
และยิ่งใหญ่สำหรับสตรีทุกผู้ทุกชั้นชน การจะเลี้ยงคนให้เติบโตมิใช่เรื่องง่าย ยากไปกว่านั้นคือเมื่อเติบโตแล้วจะต้องเป็นคนดีให้ได้ด้วย
การเป็นแม่ชนสามัญยากเย็นถึงเพียงนี้ หากจะต้องรับบทเป็นแม่ของจอมกษัตริย์เล่า ไม่ใช่หนึ่ง
แต่เป็นจอมกษัตริย์ถึงสองพระองค์ จะ
ยิ่งใหญ่และยากเย็นสักปานใด
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า" ที่ประชาชนชาวไทยขนานพระนามให้ พระองค์ทรงทำหน้าที่
นี้ได้อย่างสมบูรณ์พร้อม ทรงเป็นทั้งพ่อและแม่ในคนคนเดียวกัน อบรมเลี้ยงดูกษัตริย์จนได้กษัตริย์เยี่ยงกษัตริย์และเหนือกษัตริย์คือ มิได้
ทรงสถิตอยู่แต่ในพระราชวังเท่านั้น ยังสถิตอยู่ในดวงใจไทยทุกดวงอีกด้วย สมเด็จย่าจึงเปรียบเสมือนแม่แบบแห่งความเป็นแม่ ผู้มิเคย
ทดท้อและอ่อนล้าในหน้าที่ จวบจนเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าหน้าที่แม่แห่งจอมกษัตริย์ได้บรรลุบริบูรณ์แล้ว หน้าที่แม่แห่งพสกนิกรจึงได้
เริ่มต้น
ท้องถิ่นทุรกันดารกลับสดชื่นขึ้นอีกครั้งจากการเสด็จเยี่ยมของสมเด็จย่า ภาพที่เราเห็นจนเจนตาคือภาพของพระองค์กับ
หน่วยแพทย์อาสา โดยเฉพาะทันตแพทย์ เด็ก ๆ คนชรา และผู้พิการ ต่างพากันมารับการรักษา ราษฎรผู้ใดอาการเกินเยียวยาในที่นั้น
พระองค์ก็จะรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังความปิติชื่นชมแก่ราษฎรที่มารอรับเสด็จ จากกลางสู่ใต้ จากใต้สู่อีสาน จากอีสานสู่เหนือ
และจากเหนือสู่ดอย บนยอดดอยนั้นเองที่ประชาชนชาวเขากำลังรอพระองค์อยู่ สมเด็จย่าทรงสร้างอาชีพให้ชาวเขา พวกเค้าเลิกปลูกฝิ่น
และหันมาปลูกไม้เมืองหนาว พวกเค้าเลิกทำไร่เลื่อนลอยแต่หันปลูกป่าและหากินเป็นหลักแหล่ง ชาวเขารักสมเด็จย่าและสมเด็จย่าก็ทรงรัก
ชาวเขาเฉกเช่นประชาชนทุกผู้ของพระองค์ ณ ที่แห่งนี้เอง ที่หน้าที่แห่งความเป็นแม่ของพระองค์หวนกลับมาอย่างเต็มตัวอีกครั้งพร้อม
กับพระนามที่ลูก ๆ ของพระองค์ตั้งให้ว่า แม่ฟ้าหลวง
พระตำหนักดอยตุงราชนิเวศน์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับแรมของสมเด็จย่า มีดอกไม้นานาชนิดขึ้นรายรอบพระตำหนัก
พระองค์ทรงรักดอกไม้ ทรงรักการประดิษฐ์ ทรงผูกพันกับสรรพชีวิตโดยรอบของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นชาวเขา ชาวบ้าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่
ป่าไม้และมหาดเล็กรักษาพระองค์ พระองค์ทรงกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ และในบั้นปลายที่นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ด้วยเช่นกัน
ภาพประชาชนมากมายแห่แหนกันไปกราบพระบรมศพด้วยความจงรักภักดีอย่างไม่ขาดสาย ยังติดตาข้าพเจ้าทั้งภาพพระ
เมรุและพระโกศก็เช่นกัน ความสลดหดหู่ยังคงอยู่ไม่จางหาย ยังคงเป็นภาพแห่งฝันร้ายที่มิอาจปลุกให้ลุกขึ้นตื่น สมเด็จย่าจากพวกเราไป
แล้ว ภาพที่ข้าพเจ้าจะจดจำคือภาพขณะพระองค์ดำรงอยู่และจะทรงดำรงอยู่ชั่วกัปกัลป์
****************
|