: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 10 ประจำเดือน 10 2541
หัวข้อข่าว : พระพุทธทักษิณสมานฉันท์ พระพุทธรูปบูชาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
รายละเอียด :
                    พระพุทธรูปบูชาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง

ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งเป็นพุทธศิลป์ในพุทธศตวรรษที่  24  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาส

ราชนครินทร์  ได้ทรงพระกรุณาประทานพระพุทธรูปบูชานี้ให้เป็นพระพุทธรูปบูชาแก่บุคลากรมหาวิทยาลัย  นักศึกษามหาวิทยาลัย

สงขลานครินทร์  และพระพุทธศาสนิกชนทั่วไป  เมื่อวันเสาร์ที่  16  กรกฎาคม  2537  เวลา  17.00  น.  ณ  วังเลอดิส  กรุงเทพฯ

         ที่มาของพระพุทธรูปดังกล่าวก็คือ  เมื่อครั้งฉลองครบรอบ  25  ปี  การก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น  

มหาวิทยาลัยเคยปรารภจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อฉลองวโรกาสพิเศษและเคยได้กราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานแผ่นทองปฐม-

ฤกษ์จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  

ซึ่งได้ทรงโปรดฯ  รับไว้ในพระราชวินิจฉัย  แต่ยังไม่ได้มีการสร้างพระพุทธรูปครั้งนั้นจน  2  ปีต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้กราบ

ทูลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ซึ่งได้ทรงพระกรุณาขอพระราชทานจาก

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และพระองค์ท่านได้พระราชทานพระพุทธรูปมา  2  องค์คือ  พระพุทธรูปหล่อหลวงพ่อ

พระเสริมกับพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร  พระพุทธรูปหลวงพ่อพระเสริมนั้นพระราชทานให้แก่วิทยาเขตหาดใหญ่  พระพุทธรูป

หลวงพ่อเพชร  พระราชทานให้วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  ส่วนวิทยาเขตปัตตานีนั้น  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  

กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ได้ประทานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง  เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บุคลากรและนักศึกษา

ที่เป็นพุทธศาสนิกชน

         สำหรับประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรหรือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง  สรุปจาก

ตำนานพระพุทธรูปต่าง  ๆ  ซึ่งเป็นนิพนธ์ของพระพิมลธรรมราชบัณฑิต  (ชอบ  อนุจารี)  พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานออก

พระเมรุพระราชทานเพลิงศพพระพิมลธรรม  โดยคณะศิยานุศิษย์และสาธุชนในต่างแดน  เมื่อวันที่  29  กรกฎาคม  2536  (หน้า  

89 - 90)  ใจความว่า  "ครั้งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับที่ตำบลอุรุเวฬาเสนานิคม ณ  ราชสำนักของอุรุเวฬากัสสป  หัวหน้าชฏิล  

500  ผู้เป็นที่เคารพนับถือของมหาชนในมคธรัฐนั้น  ได้เกิดน้ำไหลบ่ามาจากทิศต่าง  ๆ  ท่วมสำนักท่านอุรุเวฬากัสสป  พระองค์จึง

เสด็จจงกรมภายในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้าน  มิได้ท่วมบ่าเข้ามาในที่ประทับ  ครั้งนั้นชฏิลทั้งหลายพากันพายเรือ

มาดู  ต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ก็สิ้นพยศ  ทั้งหมดยอมเป็นศิษย์ตั้งอยู่ในพระโอวาท  ได้ลอยบริขารของพระชฏิลลงทิ้งในน้ำ  แล้วขอ

อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา"

         กับอีกตำนานหนึ่งกล่าวถึง  "ชาวบ้านในพระนครกบิลพัสดุ์ของพระญาติฝ่ายพระพุทธบิดากับชาวนาในพระนคร

เทวทหะของพระญาติฝ่ายพระพุทธมารดา  ซึ่งล้วนอยู่ใกล้แม่น้ำโรหินีได้อาศัยน้ำในแม่น้ำทำนาร่วมกันมาโดยปกติสุข  จนสมัย

หนึ่งฝนน้อยน้ำในแม่น้ำก็น้อย  ชาวบ้านทั้งหมดต้องกั้นทำนบน้ำในแม่น้ำนี้ขึ้นมาทำงาน  แม้ดังนั้นแล้วน้ำก็หาเพียงพอไม่  เป็นเหตุ

ให้มีการแย่งน้ำทำนากันขึ้น  ขั้นแรกก็วิวาทกันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล  จนถึงคุมสมัครพรรคพวกเจ้าประหัตประหารกัน  เพราะ

ไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี  ต่อไปก็ลามปามไปถึงราชวงศ์  กษัตริย์ผู้เป็นพระญาติพระพุทธเจ้าทั้งสองพระนคร  ก็กรีฑาทัพออก

ประชิดกันยังแม่น้ำโรหินีเพื่อสัประยุทธ์กัน  โดยหลงเชื่อคำเพ็ดทูลของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้นกัน  ไม่ทันได้ทรงวินิจฉัยให้ถ่อง

แท้ว่าเมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว  ควรจะทรงระงับเสียด้วยสันติวิธีอันชอบด้วยพระราโชบายที่รักษาสันติสุขของประเทศ

         พระบรมศาสดาทรงทราบ  ก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปทรงห้ามสงครามแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสองฝ่าย  โดย

ทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์  โดยไม่พอที่จะพากันล้มตาย  ทำลายเกียรติยศของกษัตริย์  เพราะเหตุแห่งน้ำ

เข้านาเพียงเล็กน้อย  ครั้นพระญาติทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจคืนดีกันแล้วก็เสด็จพระพุทธดำเนินกลับ"

         จากตำนานความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น  จึงเห็นได้ว่าพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  หรือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรง

เครื่องนั้น  เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการห้ามภัยพิบัติอันเกิดจากความประมาทไม่รู้เท่าเหตุการณ์  และขจัดความขัดแย้งอันเกิดจากการ

ที่คนเราแต่ละคนนั้น  ถืออัตตาของตนเป็นใหญ่  อันพิจารณาแล้วก็เป็นลักษณะเด่นทั่วไปสำหรับสังคมประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์นี้

         การที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ได้ทรงพระกรุณาประทานพระ

พุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง  ให้เป็นพระพุทธรูปบูชาประจำวิทยาเขตปัตตานีและได้ประทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า  "พระ

พุทธทักษิณสมานฉันท์"  จึงนับเป็นสิริมงคลยิ่ง  ด้วยจะเป็นสิ่งเตือนใจให้เรามีสติรอบคอบในการประกอบหน้าที่การงานและการดำเนิน

ชีวิต  โดยไม่ตั้งอยู่ในความประมาทกับทั้งไม่ถือเอาอัตตาของเราเป็นที่ตั้ง  อันจะเป็นพื้นฐานให้สังคมประชาธิปไตยของเราวิวัฒน์พัฒนา

โดยสมานฉันท์คือ  ความรักใคร่ปรองดองเป็นพี่น้องร่วมสุขทุกข์กัน  ไม่ว่าเราจะมีความแตกต่างในเชื้อชาติ  ศาสนา  วัฒนธรรม  ความ

เป็นอยู่  และความคิดอ่านใด  ๆ

         การก่อสร้างมณฑปเพื่อเป็นประดิษฐานพระพุทธทักษิณสมานฉันท์นั้น  มหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จ-

พระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ให้เสด็จฯ  มาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่  16  กันยายน  2539  อันเป็น

ปีกาญจนาภิเษกเฉลิมฉลองครบรอบ  50  ปี  แห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ต่อแต่นี้ไปเราก็จะ

มีสัญลักษณ์แห่งความดีงามเพิ่มขึ้นอีกสิ่งหนึ่ง  ซึ่งจะคอยเตือนใจให้เราไม่ตั้งมั่นอยู่ในความประมาท  อันเป็นที่มาแห่หงภัยพิบัติและ

ยึดความสมานฉันท์  ในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธีสมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่เห็นพสกนิกรชาวไทย

รักสามัคคี  อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข  และร่วมกันจรรโลงชาติไทยให้ไพบูลย์วัฒนายิ่ง  ๆ  ขึ้นไป



                                                                                  ******************





โดย : 203.154.177.10 * [ วันที่ 2001-06-05 17:15:26 ]