ชมรมข้าราชการ วิทยาเขตปัตตานี เชิญผู้บริหารให้ความรู้เรื่องการออกนอกระบบราชการ ซึ่งทบวงกำหนดให้ทุก
มหาวิทยาลัยออกนอกระบบภายในปี 2545
เมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2541 ชมรมข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัด
การประชุมสัมมนาเรื่อง ม.อ. กับการออกนอกระบบราชการ ขึ้น ณ หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี โดยได้รับความสนใจจากบุคลากร
ทุกสายงานกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจต่อการที่มหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบราชการภายในปี 2545
ผศ. สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าผลงานขององค์กรหรือของบุคคลจะดีได้จะ
ต้องมีทั้งระบบที่ดีและมีคนที่ดี และมหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของสาธารณชน การทำงานโดยไม่คำนึงว่าสาธารณชนคาดหวังอะไร
จากเราก็ทำไม่ได้ เมื่อก่อนมองกันว่าการรับราชการมีความมั่นคงมาก เพราะจะถูกประเมินเพียง 6 เดือน หรือ 1 ปี หลังจากนั้น
สรุปว่าเราจะอยู่อย่างมั่นคงไปจนถึงอายุ 60 ปี ปัจจุบันสภาพเช่นนั้นกำลังจะไม่มีแล้วในระบบราชการ ขณะนี้เรากำลังเปลี่ยนไปสู่
ระบบการทำงานที่เป็นแบบกึ่งรัฐกึ่งเอกชน โดยมีเป้าหมายของประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นหลัก ประสิทธิภาพหรือคุณภาพ
ของงานส่วนหนึ่งมีความหมายว่า การมีมาตรฐานของวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ในความเป็นจริงการทำงานในหน้าที่แต่ละคนมีอะไรเป็น
ตัวบอกว่า หน้าที่ที่รับผิดชอบและวิธีทำงานเป็นอย่างไร จึงมีคนคิดระบบตรวจวัดหรือมาตรฐานขึ้นระบบหนึ่งที่มหาวิทยาลัยกำลัง
นำมาใช้คือ ISO 9000
ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เราจะนำระบบการประกันคุณภาพมาใช้และจะต้องไป
สู่การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ ซึ่งจะทำให้การบริหาร จัดการมีความอิสระคล่องตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิชาการ การ
บริหารงานบุคคล งบประมาณ ตลอดจนขั้นตอนการปฏิบัติงาน แต่นอกจากความคล่องตัวหรืออิสระแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง
คือต่อไปนี้จะต้องทำงานแบบผู้รับเหมา คือจะต้องทำงานให้เสร็จภายในงบประมาณและระยะเวลาที่กำหนดและจะมีกระบวนการตรวจ
สอบ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต่อไปว่า "การทำงานในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ความเอร็ดอร่อยของบุคลากร
มหาวิทยาลัยเท่านั้น ก่อนโน้นสถาบันมหาวิทยาลัยก่อตั้งมาเกือบพันปี มีแนวโน้มของความอร่อยอยู่เยอะ เพราะเราเชื่อว่าพวกนักปราชญ์
ให้มาอยู่รวมกัน ก็มัน ๆ ของเขาดีไม่เป็นอันตรายใคร ตอนหลังคำถามสังคมเปลี่ยนไป ซึ่งเราเองก็ต้องฟัง ทุกเรื่องทุกกิจกรรมของ
เราไม่ใช่กิจกรรมส่วนตัว จำเป็นต้องเงี่ยหูฟังว่าเรามีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร แม้แต่ในเชิงวิชาการ ขณะนี้ใครบำเพ็ญเพียรทาง
วิชาการโดยตอบไม่ได้ว่า มันมีส่วนสร้างสังคมอย่างไร ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสงสัยว่ามันควรมีหรือไม่" ผศ. สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวให้ความมั่นใจแก่บุคลากรในโอกาสที่มหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบราชการว่า "ท่านสามารถอยู่
ในระบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แน่ ๆ ถ้าความเก่งของท่านสอดคล้องกับความเก่งหรือภารกิจที่องค์กรคาดหวัง มันยากไปไหมที่เราจะ
รู้ว่าความสำเร็จของงานของเราวัดกันที่ไหน ท่านก็จะเป็นที่ประสงค์ขององค์กร ความมั่นคงในการงานก็จะเกิดขึ้น"
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บรรยายสรุปความได้ว่า เมื่อ
ครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดีและรองอธิการบดี ได้ตั้งคำถามว่าทำไมหน้าที่ดังกล่าวต้องเซ็นหนังสือมากนัก บางเรื่องก็ต้องมายกร่าง
เรื่องกันใหม่ เพื่อเสนอหน่วยเหนือขึ้นไป กำลังของกรมกองส่วนใหญ่ใช้ไปในการเดินหนังสือโยงใยไปทั่วประเทศมากกว่าจะใช้ไปในการ
คิดค้นพัฒนา นอกจากนี้ส่วนราชการยังมีการขยายออกไปเรื่อย ๆ มีการตั้งกระทรวง กรม กอง จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ เพิ่มขึ้นรัฐบาล
หรือคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ ก็ต้องมานั่งคร่อมบนระบบราชการซึ่งใหญ่โตมโหฬาร ทำอะไรไม่ได้มากเพราะต้องทำไปตาม
โครงสร้างของทางราชการกำหนด
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา ได้สรุปปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการไทยไว้ 9 ข้อดังนี้
1. การขยายตัวของส่วนราชการมากจนเกินไป
2. การเพิ่มจำนวนข้าราชการมาก
3. ระบบและวิธีการทำงานไม่เหมาะกับยุคสมัย
4. การรวมอำนาจ (การตัดสินใจ) ไว้ที่ศูนย์กลาง
5. กฎระเบียบไม่เอื้อต่อการพัฒนา
6. การสูญเสียข้าราชการที่มีคุณภาพ
7. ค่าตอบแทนต่ำไม่เหมาะและสอดคล้องกับความสามารถและอัตราการจ้างในตลาดแรงงาน
8. การทุจริตประพฤติมิชอบและไม่อุทิศตัวให้แก่ราชการ
9. ระบบการบริหารงานบุคคลไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
*****************
|