รายละเอียด :
|
30 ปีของการทำหน้าที่ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาประจำภูมิภาคภาคใต้ เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต บริการวิชาการแก่ชุมชน
และแสวงหาคำตอบให้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การให้การศึกษาเพื่อพัฒนา
กำลังคน การให้บริการทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินชีวิตของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ดีขึ้น การพัฒนาชนบทที่อยู่บนพื้นฐาน
ของหลักวิชาการซึ่งเกี่ยวโยงกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ทัศนคติ วัฒนธรรม ความเชื่อผนวกเข้าด้วยกันนั้น ล้วนแต่เป็นบทบาทอันสำคัญของ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ดำเนินการตลอดเวลาที่ผ่านมา
หากจะย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ เริ่มก่อตั้งที่
ตำบลรูสมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2509 ในระยะแรกใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยภาคใต้" (University of Southern
Thailand) ต่อมาในเดือนกันยายน 2510 มหาวิทยาลัยฯ ได้รับพระราชทานชื่อว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" (Prince of
Songkla University) ตามพระนามฐานันดรศักดิ์สมเด็จพระบรมราชชนก เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และ
ในวันที่ 12 มีนาคม 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึง
กำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่พระบรมราชโองการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
ในโอกาสครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ. ประพันธ์ วิเศษรัฐกรรม รองอธิการบดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวเปิดใจว่า "วิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในรอบ 30 ปี ผมคิด
ว่าเป็นพัฒนาการที่อยู่ในระดับที่ดีถ้าเทียบกับการเติบโตของมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค กล่าวคือจากการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ ก่อตั้งครั้งแรกที่วิทยาเขตปัตตานีเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา และได้กำหนดรูปแบบการบริการไว้แต่แรกที่
จะเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้ขยายวิทยาเขตไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคใต้แล้วรวม 5 แห่งคือปัตตานี
หาดใหญ่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และจังหวัดตรัง และมีนโยบายที่จะขยายเขตการศึกษาไปยังจังหวัดยะลาและนราธิวาส ซึ่งการขยายการ
ศึกษาดังกล่าวเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบและครอบคลุมในทุกสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่
ตั้งของมหาวิทยาลัย"
รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงต่อไปว่าสำหรับในส่วนของวิทยาเขตปัตตานี จะเน้นไปทางการผลิตบัณฑิตทางด้าน
การศึกษาและวิชาชีพครูและการพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นภาระงานของคณะศึกษาศาสตร์ ส่วนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็ผลิต
บัณฑิตทางด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษา ซึ่งเปิดสอนอยู่ร่วม 10 ภาษา โดยเฉพาะภาษาที่เป็นภาษาสากลและรองรับกับโครงการ
สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน มลายู อาหรับ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี เป็นต้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ผลิตบัณฑิตที่
รองรับกับอุตสาหกรรมในท้องถิ่นและภูมิภาคเช่น เคมีการยาง วิทยาศาสตร์การอาหาร หรือด้านการประมง และการเดินเรือ ซึ่งเรามี
ท้องทะเลที่มีอาณาเขตติดกับมหาวิทยาลัยเป็นห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติ ส่วนวิทยาลัยอิสลามศึกษาก็เป็นหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะ
ที่เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย เพราะนอกจากเป็นสถาบันเดียวที่ผลิตบัณฑิตทางด้านครุศาสตร์อิสลามและกฎหมายอิสลามแล้ว
วิทยาลัยอิสลามศึกษายังให้บริการวิชาการแก่สังคมในด้านการเป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับ
หรือภาษามลายู และเป็นองค์กรที่ประสานสัมพันธ์กับสถาบันทางการศึกษาและหน่วยราชการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศ
ทางตะวันออกกลางที่สำคัญคือประเทศซาอุดิอารเบีย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการด้านวิเทศสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่ความเป็นสากล โดยจัดโครงการร่วมกับหน่วยงาน
ต่าง ๆ ในต่างประเทศ จัดการเรียนการสอน การวิจัย แลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร ฝึกอบรมและให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ
ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการส่งผู้บริหารไปศึกษาดูงานด้านการบริหารมหาวิทยาลัย ณ ประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ,
โครงการช่วยเหลือจากประเทศเดนมาร์ก ดำเนินกิจกรรมวิจัยระบบบริการทันตสาธารณสุขในภาคใต้, โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ
คอมพิวเตอร์เพื่อการสอนภาษาเกาหลี, โครงการความร่วมมือกับ Monash University ประเทศออสเตรเลีย โดยแลกเปลี่ยนอาจารย์
และนักศึกษา เพื่อศึกษาดูงาน หารือเพื่อพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ สาขานิเวศวิทยา และโครงการความร่วมมือกับ IUT
ดำเนินความร่วมมือในการจัดตั้งภาควิชา Industrial Chemistry ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
จากการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลาก
หลายทั้งด้านศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยจึงได้เน้นการให้บริการวิชาการแก่สังคม วิจัย และทำนุบำรุงส่งเสริมศิลป
วัฒนธรรมที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมจัดทำหลักสูตรการสอนภาษามลายู
ท้องถิ่นแก่ข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาอาชีพให้แก่เยาวชนและกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การให้ความรู้
และแนวทางการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสอนเสริมแก่นักเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
โครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี ให้การฝึกอบรมความรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชนรอบอ่าวปัตตานี การวิจัยประเพณีที่ช่วยส่งเสริม
การผสมผสานทางสังคมระหว่างชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ การจัดทำ
คู่มือการไปประกอบพิธีฮัจย์ หรือการขยายการรับนักเรียนไทยมุสลิมและนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเข้าเรียนต่อใน
โรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งดำเนินการมาโดยต่อเนื่องถึง 16 ปีแล้ว
30 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 30 ปีแห่งความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาของประเทศชาติและการให้บริการ
วิชาการแก่สังคม ดังที่มหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้ประเทศชาติในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะภูมิภาคภาคใต้อันเป็นรากฐานใน
การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเสมอภาคของชนในชาติ โดยชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีปณิธาน
ที่มุ่งมั่นจะทำภารกิจให้สัมฤทธิ์ผลตามรอยเบื้องยุคลบาทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เจ้าฟ้ากรม-
หลวงสงขลานครินทร์ ดังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า
"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัว เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"
*******************
|