มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน หอการค้าจังหวัด
ชมรม ทนายความ นักวิชาการจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม
2540 ณ ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี
การทำประชาพิจารณ์ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเปรียบเทียบสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว ที่เสนอโดยสภา
ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายของรัฐบาล ร่างกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย แล้วประมวลความเห็นจากผู้
เข้าร่วมประชุมเสนอไปยังประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง (ครก.) สำนัก-
นายกรัฐมนตรี ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ซึ่งในการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจที่มี
ความเห็นต่างไปจากร่างดังกล่าวข้างต้นดังนี้
ร่างกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
1. การกำหนดให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นในระยะยาว และเพื่อ
คุ้มครองสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของคนไทยทุกคน ที่ประชุมจึงเสนอว่า
"บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ ย่อมเสียสิทธิที่พึงได้คือสิทธิในการ
ขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ รถยนต์ สิทธิในการทำนิติธรรม สัญญาต่าง ๆ ที่ต้องมีการจดทะเบียนโดยหน่วยงานของรัฐ
สิทธิการได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"
สำหรับร่างของ สสร. ของรัฐบาลและของพรรคการเมืองที่เสนอให้ตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง
ครั้งต่อไปนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าไม่เป็นผลดีต่อการส่งเสริมการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมืองประชาชน
2. การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง
ที่ประชุมเสนอให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรม-
การการเลือกตั้งแต่งตั้ง เพื่อจดทะเบียนใช้สิทธิฯ ณ ที่เลือกตั้งที่ประสงค์จะลงคะแนน ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อภาย
ใน 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการแบบคำร้อง ที่คณะกรรมการเลือกจะกำหนดต่อไป
3. การตรวจสอบผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่าร่าง สสร. ของรัฐบาลและพรรคการเมือง ไม่ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบผู้มาใช้สิทธิ
เลือกตั้ง รวมทั้งการดำเนินการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ซึ่งมีปัญหาการทุจริตมากในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ที่
ประชุมจึงมีข้อเสนอดังนี้
1. ให้มีการทำเครื่องหมายบนตัวของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อ
หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย เพื่อป้องกันการแอบอ้างใช้สิทธิแทนผู้อื่น
2. ให้มีการถ่ายทำวิดีทัศน์ประจำทุกหน่วยเลือกตั้งในทุกขั้นตอนของการดำเนินการเลือกตั้ง เริ่ม
ตั้งแต่การเข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำ ณ ที่เลือกตั้งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จนถึงการส่งหีบบัตรเลือกตั้งถึงสถานที่
นับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อเป็นมาตรการป้องปรามและใช้เป็นหลักฐานกรณีมีการทุจริตในการเลือกตั้ง โดยให้คณะ
กรรมการการเลือกตั้งกำหนดรายละเอียดและมาตรการในการปฏิบัติที่ชัดเจน
3. พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน มีสิทธิแต่งตั้งผู้เลือกตั้งเป็นผู้แทนพรรคการ
เมืองและผู้แทนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประจำอยู่ ณ ที่ซึ่งจัดไว้ในที่เลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้แห่งละ 1 คน
ร่างกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ที่ประชุมมีข้อเสนอในประเด็นสำคัญที่ต่างจากร่างกฎหมายของ สสร. ของรัฐบาลและของพรรคการเมืองดังนี้
1. ให้มีการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในระดับจังหวัด
2. การแต่งตั้งอาสาสมัครของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการมีส่วน
ร่วมในการเลือกตั้งของประชาชน การให้การศึกษาด้านการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน
3. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานใด อยู่ในบังคับบัญชาของ
ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเปรียบเทียบว่าเป็นระดับกรมหรือกระทรวง แต่ต้องมีอิสระในการดำเนินงาน
ทั้งด้านอำนาจหน้าที่ การบริหารงานบุคคลและการงบประมาณ
ร่างกฎหมายพรรคการเมือง
ที่ประชุมมีข้อเสนอในประเด็นสำคัญที่ต่างจากร่างกฎหมายของ สสร. ของรัฐบาลและของพรรคการเมืองคือ
การจัดสรรเงินสนับสนุนรายปีให้แก่พรรคการเมือง ให้จัดสรรตามจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองของแต่ละพรรค
******************
|