รายละเอียด :
|
พระธรรมโมลี (เกตุ ติสสโร) เปรียญธรรม 4 ประโยค อายุ 101 ปี พรรษา 81 เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร
จังหวัดปัตตานี พระอารามหลวง ได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2540 ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีและศิษยานุศิษย์ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลประมาณ 100 วัน ณ ศาลาวัดตานีนรสโมสร อ.เมือง จ.ปัตตานี
พระธรรมโมลี (เกตุ ติสสโร) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ได้บริหารกิจการคณะสงฆ์มาในอดีตและเป็นที่พึ่งทางด้าน
ธรรมจริยาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลปัตตานี ต่อมาเปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี
เป็นผู้จัดการศึกษาของสงฆ์ในหัวเมืองภาคใต้ รวมถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยเป็นแห่งแรกในจังหวัด
ปัตตานี เป็นเถระองค์สำคัญในการจัดสร้างวัดไทยอีกหลายแห่งในรัฐเคดะห์และปีนัง ในด้านสังคมสงเคราะห์นั้น ท่านเจ้าคุณ
พระธรรมโมลีได้บริจาคเงินเพื่อสร้างตึกผู้ป่วยที่โรงพยาบาลปัตตานี มอบเงินห้าล้านบาทเพื่อตั้งมูลนิธิพระธรรมโมลีเพื่อการศึกษา
โดยนำดอกผลมาจัดเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาปีละ 100 ทุน ๆ ละ 5,000 บาท เป็นเงิน 500,000 บาท และมอบโบราณวัตถุ ศิลป
วัตถุให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี (ในสมัยที่ท่านดำรงสมณศักดิ์
ที่พระเทพญาณโมลี) โดยมอบเงินเริ่มต้นเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ จำนวนสองล้านบาทถ้วน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเกียรติแก่ท่านเจ้าคุณฯ โดยพระราชทานน้ำสรงศพเป็นกรณีพิเศษ
พระราชทานพวงมาลา โกศและเครื่องประกอบเกียรติยศศพของพระราชาคณะชั้นธรรมตามที่กำหนดไว้ทุกประการ
ประวัติพระธรรมโมลีโดยสังเขป
ชื่อเดิม เกตุ ธรรมรัชชะ บิดาชื่อ นายเฉ่งเซ่ง ธรรมรัชชะ มารดาชื่อนางโบ้ยเลี่ยน ธรรมรัชชะ มีพี่น้อง 2 คน
พระธรรมโมลีเป็นคนโต น้องสาวชื่อ นางรุ่งเรือง รัตนาปนนท์ (ธรรมรัชชะ)
อายุ 10 ปี เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลาเป็นรุ่นแรก ศึกษาจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3
อายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.สงขลา
อายุ 16 ปี เป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนประชาบาลระโนด อ. ระโนด จ.สงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาล
แห่งแรกในภาคใต้
15 มิถุนายน 2460 อุปสมบทศึกษาพระธรรมวินัยและบาลีศึกษาที่วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2461 สอบได้นักธรรมตรี
พ.ศ. 2462 สอบได้นักธรรมโท
พ.ศ. 2468 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
พ.ศ. 2470 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค และกลับมาเปิดสำนักเรียนนักธรรมและบาลีศึกษาที่วัดเลียบ จ.สงขลา
พ.ศ. 2473 เป็นเจ้าคณะ อ. จะนะ อ. เทพา และ อ.เมือง จ.สงขลา และได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวิจิตรคณารักษ์
พ.ศ. 2477 เป็นเจ้าคณะมณฑลปัตตานี เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระญาณโมลี ธรรมวาทีสุนทร และ
พำนักอยู่ที่ จ. ปัตตานี ตลอดมา
พ.ศ. 2498 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระราชญาณโมลี
พ.ศ. 2500 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพญาณโมลี ธรรมวาทีสุนทร มหาคณิสสรบวรสังฆา-
รามคามวาสี
พ.ศ. 2531 ได้รับการถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากคณะมนุษย-
ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
พ.ศ. 2534 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมโมลี ศรีปริยัติโยดม ภาวนาวิกรมญาณปรีชา
สาสนกิจธุราทร มหาคณิสสรบวรสังฆารามคามวาสี
ชินบุตร สุดงาม ผู้นาม "เกตุ"
ธรรมนิเทศก์ เทียบ "ธง" สงฆ์สยาม
มีธรรมยึด พฤติพรต แสนงดงาม
เสมอนาม ติสสโร ธรรมโมลี
ธรรมวิจัย ไตร่ธรรม เหลือล้ำลึก
ธรรมกถึก แตกฉาน ประการสี่
ธรรมพิเนต เทศท่าน นับนานปี
ธรรมภาณี แนบใจ ผู้ใฝ่ยิน
คารวะ พระงาม สามสถาน
งามศีลทาน ท่านเอื้อ เมื่อทรัพย์สิน
งามมโน โสภณ หมดมลทิน
งามสุดสิ้น สู่ขั้น งามปัญญา
สังขารลับ กลับทวี ความดีอยู่
รัตตัญญู ผู้ล้ำ ธรรมกถา
ประมวลจิต ศิษย์แสน แทนมาลา
น้อมบูชา คารวะ แด่พระงาม
(ผศ. มะเนาะ ยูเด็น ประพันธ์)
*******************
|