นักวิชาการจากมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ความร่วมมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการร่วมวิจัย
การเลี้ยงกุ้งแบบนิเวศพัฒนา เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเลท่ามกลางมลพิษ
นายปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าใน
รอบทศวรรษที่ผ่านมาอาชีพการเลี้ยงกุ้งกุลาดำของเกษตรกรประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในหลายจังหวัดอาชีพนี้สามารถ
ทำเงินรายได้เข้าสู่จังหวัดสูงกว่าทุกสาขาอาชีพต่อเนื่องกันมาหลายปี แต่เนื่องจากปัญหาการขาดการจัดการที่ดี ปัญหาสิ่งแวดล้อม
การทำลายพื้นที่ป่าชายเลน ปัญหามลพิษจากชุมชน รวมทั้งการขุดลอกแม่น้ำลำคลอง ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะในการเลี้ยงกุ้ง
ทะเล ธุรกิจการเลี้ยงกุ้งกุลาดำจึงเริ่มซบเซามาโดยลำดับ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ลงนามในความร่วมมือกับคณะกรรมการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทำการวิจัยการเลี้ยงกุ้งแบบนิเวศพัฒนาขึ้น โดยระบบดังกล่าวจะเป็นการเลี้ยงกุ้งในรูปแบบที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อม ลดหรือไม่ใช้
สารเคมีหรือวัตถุใด ๆ ที่มีผลต่อระบบนิเวศวิทยา ทั้งนี้โดยจะใช้ระบบทางชีวภาพมาช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการ
เลี้ยงกุ้งแบบนิเวศพัฒนาของคณะกรรมการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ประสบผลสำเร็จมาแล้วในหลายจังหวัดแถบ
ภาคกลางเช่น จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงต่อไปว่านักวิชาการจากมูลนิธิชัยพัฒนา จะร่วมมือกับนัก
วิชาการของมหาวิทยาลัยในการวิจัยการเลี้ยงกุ้งแบบนิเวศพัฒนา เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน
2540 โดยจะทำการวิจัยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านทิศเหนือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในพื้นที่ประมาณ
40 ไร่ ซึ่งหากผลการวิจัยเพื่อพัฒนานี้ประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็จะเป็นฐานในการเผยแพร่ความรู้ด้าน
การเลี้ยงกุ้งแบบนิเวศพัฒนาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำในภาคใต้ตอนล่างต่อไป
*****************
|