ประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบุคลากรมหาวิทยาลัย เห็นด้วยที่มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แยกเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ เพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในโครงการ
สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ และควรขยายสาขาวิชาด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และด้านการประมงที่ยังขาดแคลนในพื้นที่ชายแดน
ภาคใต้
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 ที่หอประชุมวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้
จัดเสวนาเรื่อง "อนาคตของ ม.อ. ปัตตานี" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี
ผศ. สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ผศ. อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ ประธานโครงการจัดตั้งคณะวิทยาการสื่อสาร
นายปราโมทย์ กระมุท ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ โดยมี รศ. ครองชัย หัตถา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง
เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ทั้งนี้โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 200 คน การเสวนาครั้งนี้ได้กล่าวถึงปัญหาของการทำงานที่มีหลาย
ขั้นตอน ทำให้เกิดความล่าช้าและมีข้อจำกัด ปัจจุบันศักยภาพของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สามารถเข้าสู่
ความเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบได้เนื่องจากมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากร นักศึกษา และอุปกรณ์การเรียนการสอน ต่อมาใน
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ฯพณฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนายไพศาล ยิ่งสมาน สมาชิกสภาผู้แทน
ราษฎรจังหวัดยะลา ได้ให้เกียรติเดินทางมาวิทยาเขตปัตตานีตามคำเชิญของมหาวิทยาลัย เพื่อให้คำแนะนำในการบริหารและแนว
ทางในการที่จะช่วยผลักดันให้ ม.อ. ปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยอิสระหรือเต็มรูปแบบ
จากการเปิดเผยของ ฯพณฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาต่อกรณีที่ ม.อ. ปัตตานี จะแยกเป็นมหา-
วิทยาลัยเต็มรูปแบบว่า จากสภาพความไม่คล่องตัวกับการบริหารมหาวิทยาลัย ตนเห็นด้วยในการปรับเปลี่ยนวิทยาเขตเป็นมหา-
วิทยาลัยเต็มรูปแบบและคงไม่มีปัญหา เนื่องจาก ม.อ. ปัตตานี ได้ก่อตั้งมา 30 ปีแล้ว ย่อมมีความพร้อมและศักยภาพในทุก ๆ
ด้านและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการรองรับโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ
(IMT - GT) สำหรับภาครัฐแล้วพร้อมที่จะผลักดัน เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคลอยู่แล้ว โดยจะนำเรื่อง
ดังกล่าวเข้าสภาใน 2 - 3 เดือนนี้ ถ้าผู้บริหารวิทยาเขตปัตตานี คณาจารย์ บุคลากร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ มีความเห็นที่สอดคล้องกันด้านทิศทางของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ควรจะต้องขยายสาขาวิชาที่ขาดแคลนและ
เหมาะสมกับพื้นที่เช่น ด้านการแพทย์ พยาบาล วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ และเพื่อรองรับความเป็นพื้นที่
สากลและความเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบทางทะเล ในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย
บรูไน เป็นต้น เห็นสมควรให้เปิดสาขาด้านการพัฒนาการประมง การเดินเรือ อู่ต่อเรือ ซึ่งยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดเปิดสอน
ดังนั้นจึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะผลิตบุคลากรขึ้นมาตอบสนองสังคมในปัจจุบันและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าในการที่ประธาน
รัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาให้ข้อชี้แนะในการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยนั้นเป็นประโยชน์
อย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเสนอโครงการยกฐานะวิทยาเขตปัตตานีเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูป
แบบ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย คณะกรรมการในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักการเมือง
ท้องถิ่น องค์กรในท้องถิ่น พร้อมทั้งยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเสนอผ่านไปทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ส่งผ่านทบวงมหาวิทยาลัยด้วย
******************
|