รายละเอียด :
|
นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่าปริมาณสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีลดลงอย่างรวดเร็ว
สืบเนื่องจากการประมงที่ไม่เหมาะสม ขอให้รัฐปรับนโยบายการประมงให้เกื้อหนุนการทำประมงพื้นบ้าน ควบคุมการใช้เครื่องมือ
ประมงให้เหมาะสมกับพื้นที่และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อรักษาสภาพการประมงขนาดเล็กรอบอ่าวปัตตานี
อ่าวปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่ 74 ตารางกิโลเมตร รอบพื้นที่อ่าวปัตตานีประกอบด้วยชุมชน
14 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก ในอดีตนั้นการประกอบอาชีพของชาว
ประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง ใช้เรือกอและและอุปกรณ์ในการจับปลาที่ลงทุนครอบครัวละ 4 - 5 หมื่นบาท ก็สามารถเลี้ยง
ชีพได้ สืบเนื่องจากระบบนิเวศวิทยาที่มีความสมบูรณ์
นายลายิ สาแม กำนันตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่าในอดีตบริเวณอ่าวปัตตานีอุดม
สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชาติเช่น ปลากะพง ปลากะรัง กุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ
ทางเศรษฐกิจคือ สาหร่ายผมนาง พบเป็นปริมาณมากและมีราคาค่อนข้างสูงในเชิงอุตสาหกรรมท้องถิ่น การที่ในอดีตมีทรัพยากร
เหล่านี้มาก เพราะกลุ่มคนที่อยู่รอบอ่าวปัตตานีส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามที่จะไม่
มุ่งสะสม แต่จะจับสัตว์น้ำเฉพาะที่เพียงพอแก่ความต้องการ ถ้าเกินความต้องการก็จะปล่อยกลับสู่ทะเล แต่ในปัจจุบันทรัพยากร
เหล่านี้เริ่มหมดไป เนื่องจากมีผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ยังผลให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในอ่าวปัตตานี
คือ มีการรุกล้ำสิทธิน่านน้ำชายฝั่ง 3,000 เมตร โดยมีเรือประมงพาณิชย์ เรืออวนรุน อวนลาก เป็นการทำลายปะการัง หญ้า
ทะเล และสัตว์น้ำวัยอ่อนจนทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ไป
จะเห็นว่าสัตว์น้ำตามธรรมชาติในอ่าวปัตตานีเริ่มลดลงและส่งผลกระทบต่อชุมชนประมงรอบอ่าวปัตตานีที่มีอาชีพ
ประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการเช่น การใช้เครื่องมือประมงไม่เหมาะสม ปัญหาน้ำเสีย การจับสัตว์น้ำมากเกิน
ไป การแก้ปัญหาเหล่านี้ทำได้ยาก เนื่องจากขาดข้อมูลพื้นฐานหลายประการเกี่ยวกับชนิดและปริมาณสัตว์น้ำ เครื่องมือประมง
พื้นบ้าน ตลอดจนประวัติทางนิเวศวิทยาของอ่าวปัตตานี และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานในการแก้ปัญหา มหาวิทยาลัยสงขลา-
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการสำรวจชนิดและปริมาณการจับสัตว์น้ำและสภาพการประมงขนาดเล็กรอบอ่าว
ปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินชนิดและปริมาณการจับสัตว์น้ำ และศึกษาประเภทของเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ตลอด
จนศึกษาประวัติทางนิเวศวิทยาและการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชนรอบอ่าวปัตตานี
นายนุกูล รัตนดากุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้
วิจัยเรื่อง การสำรวจชนิดและปริมาณการจับสัตว์น้ำและสภาพการประมงขนาดเล็กรอบอ่าวปัตตานี ได้กล่าวถึงปริมาณสัตว์น้ำ
ที่จับได้ในอดีต เปรียบเทียบปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2506 ถึงปัจจุบันว่า ผลจากการศึกษาและสำรวจพบว่าสัตว์น้ำที่ชาวประมง
เคยจับได้มีทั้งหมด 135 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ที่จับได้เป็นพวกปลามีประมาณ 120 ชนิด นอกนั้นเป็นสัตว์น้ำประเภทอื่น ใน
ปัจจุบันมีปลาหลายชนิดที่สูญหายไปจากอ่าวปัตตานีแล้วเช่น ปลาพะยูน ปลาฉลามหนูใหญ่ และมีปลาหลายชนิดที่มีปริมาณ
ลดลงเป็นอย่างมากเช่น ปลาจะละเม็ดดำ ปลาทรายแดง ปลากระเบนนกเนื้อดำ เครื่องมือประมงที่สำรวจพบมีประมาณ 30
ชนิด ได้แก่ อวน เรือ เบ็ด กรงดัก ฯลฯ การใช้เครื่องมือประมงจะต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ ชนิด และปริมาณสัตว์น้ำ เครื่องมือ
ประมงบางชนิดไม่มีการใช้แล้ว เนื่องจากสัตว์น้ำที่เคยจับลดปริมาณลงมากจนไม่คุ้มทุน ส่วนเครื่องมือประมงชนิดใหม่ที่เข้า
มาจะจับแบบธุรกิจคือ จับแบบไม่จำเพาะเช่น อวนรุน อวนลาก อวนทับตลิ่ง ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว จากการ
ศึกษาประวัตินิเวศน์พบว่าปริมาณสัตว์น้ำลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมา ปลาบางชนิดสูญหายไปจากอ่าวเนื่อง
จากการจับเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ และผลจากการที่อ่าวตื้นเขินซึ่งเกิดจากการตกตะกอนและจะเกิดมากบริเวณก้นอ่าว
ทำให้สัตว์น้ำตัวอ่อนอาศัยในบริเวณน้ำลึกต้องอพยพออกไปจากอ่าว
ผู้วิจัยและสำรวจชนิดและปริมาณการจับสัตว์น้ำและสภาพการประมงขนาดเล็กรอบอ่าวปัตตานี ได้ให้ข้อเสนอ
แนะว่าจากข้อสังเกตของเครื่องมือประมงบางอย่างเช่น อวนรุน อวนลาก โพงพาง และคราดหอย มีผลกระทบระยะยาว
สร้างปัญหาเศรษฐกิจและสังคมต่อชุมชนประมงพื้นบ้านอย่างรุนแรง ทางออกต่อปัญหาดังกล่าวเพื่อความอยู่รอดของชุมชน
ก็คือ นโยบายการประมงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้เกื้อหนุนการทำประมงพื้นบ้าน ควรจัดการควบคุมให้มีการใช้เครื่องมือประมง
ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และยกเลิกเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว สำหรับสัตว์น้ำที่พบในอ่าวปัตตานีส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนของ
ลูกปลา ซึ่งจะเจริญเติบโตในเขตทะเลนอกโดยเฉพาะในเขตแนวหินและปะการับในทะเลนอกชายฝั่ง แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้น
ถูกทำลายโดยอวนรุน อวนลากต่าง ๆ ดังนั้นการเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่และช่วยกันอนุรักษ์แนวปะการังและแนวหินตลอดจน
พื้นที่ในอ่าว จะช่วยให้การประมงชายฝั่งและทะเลนอกดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้จะเห็นว่าวัฒนธรรมการทำประมงในวิถี
ชีวิตดั้งเดิม ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางศาสนาเป็นการทำมาหากินไม่ใช่การค้าขาย แต่เมื่อกระแสของการพัฒนาแบบใหม่ตาม
นโยบายของรัฐบาลเข้ามา ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การทำลายทรัพยากร โดยที่รัฐบาลไม่ได้สร้างฐานอื่น ๆ
รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด รัฐควรจัดสรรอาชีพใหม่เข้ามาทดแทนและฟื้นฟูสาระ
สำคัญของวิถีชีวิตดังกล่าวให้คงอยู่ต่อไป
******************
|