คณะผู้บริหารวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินทางไปเยือนสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรทาง
ศาสนาในประเทศซาอุดิอารเบีย ประสบความสำเร็จในการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในระดับสูง
ดร. อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมคณะซึ่ง
ประกอบด้วย ดร. หะสัน หมัดหมาน ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข และนายสมเจตน์ นาคเสวี ได้เดินทางไปเยือนสถาบันอุดมศึกษาและ
องค์กรทางศาสนา ณ กรุงริยาร์ด มะดินะห์ เมกกะ และกรุงเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ระหว่างวันที่ 19 - 28 มกราคม
2539
ณ กรุงริยาร์ด คณะได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยอิหม่ามเบนซาอุด ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนทางศาสนา
อิสลามตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ได้พบกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีคณะชาริอะห์ (กฎหมายอิสลาม)
ณ ที่นี้คณะได้กระชับความสัมพันธไมตรีดูงานด้านการบริหาร ตลอดจนการจัดระบบการสอนแนวใหม่ของสถาบันภาษาอาหรับของ
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งสถาบันภาษาอาหรับยินดีที่จะสนับสนุนการเรียนการสอนและพัฒนาอาจารย์สอนภาษาอาหรับให้แก่มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์
ลำดับต่อมา คณะได้ไปเยือนมูลนิธิกษัตริย์ไฟซาล ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีหน้าที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมสังคมมุสลิม
ทั่วโลก ได้พบกับเลขาธิการมูลนิธิ ดูศูนย์ข้อมูลที่จัดระบบได้อย่างทันสมัย มูลนิธิยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานในด้านการบริการ
ชุมชนของวิทยาลัยอิสลามศึกษาในโอกาสต่อไป
ที่สันนิบาตมุสลิมแห่งโลก (WORLD ASSEMBLY MUSLIM OF YOUTH) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ให้การ
สนับสนุนกองทุนการศึกษาเด็กของโลกมุสลิม คณะได้พบเลขาธิการสันนิบาต ได้เจรจากันถึงการให้ทุนการศึกษา กิจกรรมนักศึกษา
และทางสันนิบาตมุสลิมแห่งโลก ยินดีให้การสนับสนุนการจัดสร้างหอพักนักศึกษา โดยให้ทางวิทยาลัยอิสลามศึกษาทำโครงการเสนอ
ผ่านสถานเอกอัครราชทูตต่อไป
นอกจากนี้ที่กรุงริยาร์ด คณะจากวิทยาลัยอิสลามศึกษาได้เข้าพบเชคอับดุลอาซีส เบญบาซ ผู้นำศาสนาของประเทศ
ซาอุดิอารเบีย ซึ่งท่านยินดีให้การสนับสนุนการจัดสร้างศาลาละหมาดให้แก่วิทยาลัยอิสลามศึกษาด้วยเช่นกัน
เมืองมะดีนะห์ คณะได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะห์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้จัดส่งคณะวิทยากรมาอบรมการสอนภาษาอาหรับแก่ครูอาจารย์ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
อิสลามและบุคลากรจากสถาบันการศึกษาและศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2536 รวม 3 รุ่นแล้วและผู้ผ่านการอบรมจากโครงการนี้ ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้รวม
กว่า 30 คน ณ ที่นี้คณะได้พบท่านอธิการบดีและพบกับศาสตราจารย์มูฮัมมัด คอลีฟะ อัตตามีมีย์ ซึ่งได้เดินทางมาเป็นวิทยากร
อบรมภาษาอาหรับ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 3 ครั้ง มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะห์ ก็ยังคงยินดีให้การสนับสนุน
ทางวิชาการและจัดส่งวิทยากรมาให้การอบรมต่อเนื่องต่อไป
ลำดับถัดมาได้ไปเยือนสถาบันคิงฟาฮัดเพื่อการจัดพิมพ์และแปลคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งสถาบันนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มี
หน้าที่รวบรวม ตรวจทาน และจัดพิมพ์คัมภีร์อัลกุรอ่านแจกจ่ายไปทั่วโลก คณะจากวิทยาลัยอิสลามศึกษา ได้เสนอว่า วิทยาลัย
อิสลามศึกษายินดีจะให้ความร่วมมือในการแปลคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นภาษาไทย
เมืองเมกกะห์ คณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ ได้พบกับอธิการบดีของมหา-
วิทยาลัยแห่งนี้ ได้เจรจาถึงความร่วมมือทางวิชาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่เมืองเดียวกันนี้คณะได้ไปเยือนสันนิบาตมุสลิมโลก
ได้พบกับผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการศึกษา ท่านยินดีสนับสนุนเอกสารตำราทางวิชาการและจัดส่งอาจารย์มาช่วยสอน
เมืองเจดดาห์ ซึ่งเป็นเมืองสุดท้ายของโครงการกระชับความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดิอารเบีย และการศึกษาดูงานด้าน
การศึกษา คณาจารย์จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ไปเยือนองค์การสงเคราะห์มุสลิมสากล ได้เข้า
พบและเจรจากับเลขาธิการองค์การ ซึ่งทางองค์การสงเคราะห์มุสลิมสากล มีความยินดีที่คณะเดินทางไปเยือนและยินดีให้การ
สนับสนุนการบริการวิชาการชุมชนของวิทยาลัยอิสลามศึกษา
ดร. อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้แจงว่าแทบทุกสถาบันและ
องค์กรที่คณะจากวิทยาลัยอิสลามศึกษาเดินทางไปเยือน ต่างมีความประทับใจและตื่นเต้นยินดีที่ได้รับทราบว่าประเทศไทยที่มี
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา แต่รัฐบาลก็ได้ให้การส่งเสริมศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาขึ้น
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งนอกจากเพื่อจัดการศึกษาด้านศาสนาอิสลามจนถึงระดับปริญญาตรีแล้ว
ก็ยังมีการให้บริการวิชาการชุมชนอีกด้วย
*****************
|