นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มุ่งศึกษาการจัดกำลังคนเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่ายหรือ
IMT - GT โดยเน้นปรับปรุงหลักสูตรและพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในอนาคต รวมทั้งพัฒนาคุณ
ลักษณะด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อประกอบอาชีพในภาคใต้ตอนล่าง
ผศ. ดร. ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้วิจัยเรื่อง การจัดการ
ศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ตอนล่าง เปิดเผยว่าภาคใต้ตอนล่างได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา
เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้นตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ทำให้สภาพสังคมขยายเป็นสังคมเมือง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นมากขึ้น การใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีมาก
ขึ้น สถาบันการศึกษาที่ผลิตกำลังคนกับความต้องการของตลาดแรงงานในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้บรรลุเป้าหมายได้นั้น จำเป็นต้อง
อาศัยปัจจัยที่นอกเหนือจากวัตถุดิบ เงินทุน และเทคโนโลยี ประชากรต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาจึงนับว่าสำคัญยิ่ง ซึ่งสถาบัน
การศึกษาที่รับผิดชอบผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคใต้ตอนล่าง กำหนดแนวนโยบายและแผนการจัดการศึกษา กำหนดหลักสูตร
เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกรณีในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ตอนล่าง ตามแนวนโยบายของ
รัฐบาลที่กำหนดให้ภาคใต้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เรียกว่า สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (INDONESIA - MALAYSIA - THAILAND
GROWTH TRIANGLE) หรือ IMT - GT โดยมุ่งศึกษาสภาพ ปัญหา และการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนของหน่วยงานที่จัด
การศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อประมวลหลักสูตรการจัดการศึกษาและผลผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อศึกษา
แนวโน้มความต้องการกำลังคนที่สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
จากการศึกษาถึงความต้องการกำลังคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ตอนล่างพบว่า แรงงาน กำลังคนที่ตลาดต้องการมีไม่เพียง
พอกับความต้องการ และที่มีอยู่นั้นเป็นแรงงานประเภทใช้แรงงานที่ไม่ได้ผ่านการอบรม ซึ่งมาจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
จึงทำให้คุณลักษณะของกำลังคนไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการผู้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี สำหรับแรงงาน
ที่เป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษา ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคนี้เพียง 25 - 30 % ที่เหลือจะกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ เนื่องจากโรงงาน
อุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนล่างยังมีน้อย นอกจากนี้ในการผลิตกำลังคนให้มีความพร้อม ทันกับความเปลี่ยนแปลงและการนำเทคโนโลยีมา
ใช้นั้น ต้องพัฒนาคุณลักษณะด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อประกอบอาชีพในภาคใต้ตอนล่าง ส่วนการจัดรูปแบบการศึกษาตามนโยบายกลาง
นั้น ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่ได้กระจายอำนาจการบริหารมายังสถาบันการศึกษาให้มีความ
อิสระและคล่องตัวในการดำเนินการ
ผศ. ดร. ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ ได้กล่าวสรุปถึงการเตรียมการในอนาคตสำหรับโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจว่า ควรดำเนินการ
ให้เป็นระบบสากลมากขึ้น มีความเป็นนานาชาติที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศได้เช่น การแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เรียนระหว่าง
สถานศึกษาด้วยกันได้ เพื่อความเข้าใจและความสัมพันธ์ต่อกัน ความสามารถทางภาษา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกอบรมและจัดสอน
ทั้งในหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว.
*******************
|