รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกรมวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาบุคลากร ประเทศอินเดีย ร่วม
เฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดแสดงนาฏศิลป์จากคณะนาฏศิลป์กุจราชและ
คณะนาฏศิลป์มณีปุริ ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ ฯพณฯ รณชิต คุปตะ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2538
นายน้ำ สุขอนันต์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี แจ้งว่ารัฐบาลอินเดียมีความปรารถนาที่จะร่วมกับประชาชนชาวไทย ในการเฉลิมฉลองในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ
50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดจัดงานเทศกาลอินเดียขึ้นในประเทศไทย โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา
1 ปี และการจัดแสดงนาฏศิลป์ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสดังกล่าว
สาธารณรัฐอินเดีย เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบเอเซียใต้ มีพื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชาชน
843,931,000 คน เมืองหลวงคือ นิวเดลฮี มีกลุ่มชนอาศัยอยู่ในประเทศนี้หลายเชื้อชาติได้แก่ อินโด - อารยัน 72%, คราวิเดียน
25% อื่น 3% ภาษาที่ใช้มีภาษาฮินดี, อังกฤษ, เทลูกุ, เบงกาลี, มารตี, เออร์ดู และภาษาอื่น ๆ อีกกว่า 70 ภาษา อินเดียมีชน
อยู่หลายเชื้อชาติ นับถือศาสนาต่าง ๆ กันคือ ฮินดู 83%, อิสลามนิกายสุหนี่ 11%, คริสต์ 2%, ซิกข์ 2%, พุทธ 1%
กุจราช (Gujarat) เป็นชื่อรัฐหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอินเดีย ทิศเหนือจดรัฐราชสถาน (Rajasthan)
ทิศตะวันออกจดรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) ทิศตะวันออกเฉียงใต้จดรัฐมหาราชตรา (Maharashtra) ทิศใต้
และทิศตะวันตกเฉียงใต้จดทะเลอารเบีย และทิศตะวันตกเฉียงเหนือจดประเทศปากีสถาน มีพื้นที่ 196,024 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 41,309,582 คน
กุจราชจัดตั้งขึ้นเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1960 โดยแยกตัวมาจากตอนเหนือและตะวันตก
ของรัฐบอมเบย์ (Bombay) ซึ่งเป็นแถบที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่พูดภาษากุจราติ (Gujrati)
ระบำพื้นเมือง (Folk Dance) จากกุจราชที่มาแสดงที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในครั้งนี้
คือ Garbar และ Rasa ซึ่งเป็นระบำพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของชาวกุจราช จะมีแสดงกันในทุกระดับของสังคม โดยนักแสดง
ชายล้วนหรือหญิงล้วน หรือบางครั้งจะนำ Garba และ Rasa มาแสดงร่วมกัน
ระบำ Rasa มักใช้แสดงในพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา ระบำ Rasa นี้จะแสดงเฉพาะนักแสดงชายล้วน เข้าแถว
เป็นขบวนดุจจะเป็นตัวแทนของพญางูที่คนอินเดียบูชา ส่วนระบำ Garba นั้นเป็นที่นิยมของชาวกุจราชไม่แพ้ Rasa เมื่อถึงงาน
เทศบาล Navaratra หญิงชาวกุจราชจะนำหม้อซึ่งมีใช้อยู่ในทุกครัวเรือน มาเป็นเครื่องประกอบการร่ายรำ การแสดงจะเริ่มด้วย
ผู้นำของกลุ่มร้องนำท่อนแรกก่อน ลูกคู่ก็จะร้องรับตามมาให้จังหวะด้วยการตบมือและตีไม้ประกอบจังหวัด ในแต่ละจังหวะนักแสดง
จะโน้มตัวไปทางด้านข้าง ยื่นแขนมาทางด้านหน้าเป็นการให้สัญญาณขึ้นและลง เป็นสัญญาณตบมือ การเต้นจะเต้นคลอไปกับจังหวะ
dholak (กลองของอินเดียซึ่งมี 2 ใบ) และเสียงร้องของกลุ่มนักร้องหญิง เพลง Garba เป็นเพลงที่ถือว่าทรงคุณค่าและงดงาม
อย่างยิ่ง
การแสดงชุดที่สองที่นำมาแสดงคือ นาฏศิลป์มณีปุริ (Manipuri) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แบบแผนนาฏศิลป์หลักของอินเดีย
ก่อกำเนิดขึ้นในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐมณีปุระ (Manipura) สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือ ลีลาที่อ่อนช้อย แช่มช้า และลีลาที่รวดเร็ว
คึกคัก การร่ายรำจะเข้ากับทำนองของเสียงพิณ ท่วงท่าการเคลื่อนไหวของฝ่ายหญิงจะอ่อนช้อยและงดงาม ก้าวย่างที่แผ่วเบา นุ่มนวล
ส่วนฝ่ายชายนั้นจะบ่งบอกถึงความเข้มแข็ง กล้าหาญ มีการนำกลองมาแขวนที่ต้นคอฝ่ายชาย แล้วกระโดดขึ้นจนลอยตัว เป็นลีลาที่งด
งามและน่าตื่นเต้นไม่น้อย เครื่องแต่งกายของตัวละครจะถูกออกแบบมาอย่างวิจิตร งดงาม หลากสีสรรสดใส
*******************
|