: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 8 ฉบับที่ 09 ประจำเดือน 11 2538
หัวข้อข่าว : เรือนขนมปังขิง ที่ทำการสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมสัมพันธ์
รายละเอียด :
               เรือนขนมปังขิงหรือบ้านโบราณ  เป็นของอำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค  (ทอง  คุปตาสา)  ธรรมการมณฑลปัตตานี  ส่วนหนึ่ง

จัดตั้งเป็นที่ทำการสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษา  ภาษา  และวัฒนธรรมสัมพันธ์  ส่วนอื่น  ๆ  ใช้จัดนิทรรศการชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้น

ร่วมสมัยของพระยาพิบูลพิทยาพรรค  เป็นอาคารหนึ่งในโครงการพิพิธภัณฑ์เปิดกาญจนภิเษก

              บ้านอำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค  เป็นเรือนไม้ที่เรียกว่า  โคโลเนียนสไตล์  หรือเรือนขนมปังขิง  เช่นเดียวกับพระที่นั่งวิมานเมฆ  

เป็นเรือนไม้ที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของเจ้าของบ้านและช่าง  ในการผสมผสานวัฒนธรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืน

              อำมาตย์โทพระยาพิบูลพิทยาพรรค  (ทอง  คุปตาสา)  เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี  ท่านได้รับคำสั่งให้ย้ายจากตำแหน่งครูโรงเรียนสวน-

กุหลาบ  มาเป็นว่าที่ธรรมการมณฑลปัตตานี  เมื่อ  พ.ศ. 2453  จนกระทั่งปี  พ.ศ. 2473  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งธรรมการมณฑลนคร-

ศรีธรรมราชอีกตำแหน่งหนึ่ง  บ้านหลังนี้สร้างโดยช่างชาวจีน  เสร็จประมาณปี  พ.ศ. 2476  อันเป็นปีที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคลาออกจาก

ราชการเมื่อมีพระราชบัญญัติยุบเลิกมณฑลทั่วราชอาณาจักร  เดิมตั้งอยู่เลขที่  3  ถนนสฤษดิ์  บ้านหันมาทางทิศใต้  เยื้องกับโรงพยาบาลปัตตานี

เก่า  ทางทิศตะวันตกจรดคลองสามัคคี  ด้านหลังบ้านติดถนนโรงเหล้าสาย  ข  อยู่ในบริเวณเนื้อที่ประมาณกว่า  20  ไร่  ซึ่งพระยาพิบูลพิทยา-

พรรคใช้ปลูกพืชผัก  ผลไม้  ดอกไม้นานาชนิด  จนบ้านและบริเวณนั้นเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม  "บ้านสวน"  ลักษณะของบ้านเป็นเรือนไม้  2  ชั้น  

สูงจากพื้นดินประมาณ  170  ซม.  มีเนื้อที่ชั้นล่างและชั้นบนเท่ากันชั้นละ  90  ตารางเมตร  ชั้นล่างมี  3  ห้อง  ด้านหน้าติดกับถนนสฤษดิ์เป็นห้อง

รับแขก  ถัดเข้าไปทางหลังของตัวบ้านเป็นห้องนอนของคุณหญิงสิน  (ภรรยา)  ตรงข้ามเป็นห้องโถงใหญ่ที่มีตู้และชั้นวางหนังสือกั้นแทนฝา  เป็น

ห้องทำงานและห้องพักผ่อนของพระยาพิบูลพิทยาพรรค  ซึ่งภายหลังเมื่อมีอายุมากขึ้น  ท่านได้ใช้เป็นห้องนอนและถึงแก่กรรมในห้องนี้  ด้านหลัง

เป็นเฉลียงขนาด  8 x 3  เมตร  มีลูกกรงไม้ล้อมรอบเป็นที่อเนกประสงค์ต่อจากเฉลียงมีระเบียงไม้ลดระดับขนาด  8 x 6  เมตร  พร้อมทั้งหลังคา  

เชื่อมไปยังบ้านเรือนไม้ยกพื้นหลังเล็กขนาด  11 x 5  เมตร  ซึ่งมีระดับเดียวกับบ้านหลังใหญ่และต่อไปยังเรือนครัว  ซึ่งลดระดับต่ำลงไปอีกและ

สูงจากพื้นดินประมาณ  50  ซม.  ระเบียงนี้ส่วนที่ติดกับเฉลียงเป็นที่รับประทานอาหารของพระยาพิบูลพิทยาพรรคและครอบครัว  ข้างใต้ตรง

กันเป็นที่เก็บน้ำฝนทำด้วยซิเมนต์สำหรับใช้บริโภคตลอดทั้งปี  กลางระเบียงด้านเดียวกับห้องทำงานของพระยาพิบูลพิทยาพรรค  มีห้องสุขาและ

ห้องน้ำแยกกัน  ติดกันมีบันไดขึ้นระเบียง  ภายหลังเมื่อพระยาพิบูลพิทยาพรรคและคุณหญิงสินมีอายุมากขึ้น  ได้สร้างห้องสุขาห้องอาบน้ำเพิ่มขึ้น

ที่บริเวณปีกขวาของเฉลียง  ชั้นบนของบ้านส่วนที่อยู่เหนือที่พักบันได  เป็นที่วางโต๊ะหมู่บูชา  เนื้อที่หลักแบ่งออกเป็น  5  ห้อง  ห้องที่อยู่หัวบันได

เป็นห้องมุมรับแขก  และสมัยหลังใช้เป็นห้องพักของสมาชิกในครอบครัวด้วย  ติดกับห้องมุขเป็นห้องนอนพระยาพิบูลพิทยาพรรค  ห้องตรงข้าม

เป็นห้องพักของลูกหลาน  ตรงข้ามทางเดินระหว่างสองห้องนี้เป็นห้องนั่งเล่น  ติดกับห้องนี้และห้องนอนของท่านเป็นห้องเก็บของ

              บ้านโบราณหลังนี้มีหลังคา  รวมทั้งลวดลายและแกะสลักตกแต่งตามลักษณะบ้านแบบยุโรปที่เริ่มสร้างในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาล

ที่  4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีหน้าต่างแคบยาว  ตีไม้เป็นบานเกล็ดตายตัว  แต่มีหน้าจั่วเพิ่มมาด้านหน้า  ตัวบ้านทาสีฟ้าอ่อน  ตัดขอบด้วยสีฟ้าเข้ม  

ที่น่าสังเกตคือไม่มีการติดกุญแจที่ประตู  มีเฉพาะกลอนภายในเป็นบางห้อง  ผู้ที่เคยพักอาศัยในบ้านหลังนี้กล่าวว่าไม่เคยปรากฏว่ามีขโมยทั้ง  ๆ  

ที่บริเวณบ้านกว้าง  ไม่มีรั้วบ้าน  และติดถนนสองด้าน  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระยาพิบูลพิทยาพรรคเป็นคนดี  มีความเด็ดขาด  เป็นที่เคารพยำเกรง

ของบุคคลทั่วไปและชาวบ้านมุสลิมที่อยู่รอบ  ๆ  ภายในบ้านมีการตกแต่งแบบเรียบ  ๆ  ส่วนใหญ่เป็นเกียรติบัตร  เหรียญ  และเครื่องหมายสำหรับ

เครื่องแบบในโอกาสต่าง  ๆ  ของพระยาพิบูลพิทยาพรรค  มีตู้และชั้นหนังสือเป็นหลัก  เนื่องจากเจ้าของบ้านเป็นผู้รักการอ่านการประพันธ์คำกลอน

สักวา

              หลังจากที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคถึงแก่กรรมในปี  พ.ศ. 2509  คุณหญิงสินได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ  ในเวลาต่อมา  ผู้ที่ครอบครองดูแลบ้าน

หลังนี้คือ  คุณเกียรติราช  ซึ่งเป็นหลานและใช้เป็นที่พักของนักเรียนนักศึกษาจนถึงปี  2519  ผู้ที่สืบทอดบ้านหลังนี้ต่อมาคือ  ว่าที่  ร.ต. ปราโมทย์

และอาจารย์จีรพรพิชญ์  เชาวน์วาณิชย์  ได้บูรณะบ้านให้อยู่ในสภาพที่ดี  โดยมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดูแล  ต่อมาว่าที่  ร.ต. ปราโมทย์  

เกรงว่าบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างซึ่งมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์นี้อาจชำรุดได้  เนื่องจากอยู่ในสภาพเป็นแอ่ง  เพราะที่ดิน

โดยรอบได้กลายเป็นที่ตั้งของตึกแถวและบ้านพักอาศัย  จึงได้แจ้งกับอาจารย์ปัญญ์  ยวนแหล  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต

ปัตตานี  ในขณะนั้นว่าประสงค์จะบริจาคให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป

              ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กำลังพิจารณาหางบประมาณที่จำเป็นในการขนย้ายและผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบบ้านนั้น  ว่าที่  

ร.ต. ปราโมทย์  ได้ขายที่ดินบริเวณบ้านให้แก่  นายสมยศ  ฉันทวานิช  โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องบริจาคบ้านพระยาพิบูลพิทยาพรรคให้แก่มหาวิทยาลัย

สงขลานครินทร์

              ในเดือนกันยายน  2535  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้รับ

หนังสือแจ้งความจำนงการบริจาคบ้านจากนายสมยศ  จึงได้นำนายเอริค  บ็อกด็อง  (Eric  Bogdan)  สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนัก

วิจัยของโครงการ  Grand  Sud  (มหาทักษิณ)  ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และรัฐบาลฝรั่งเศส  ไปศึกษาความเป็นไป

ได้ของการเคลื่อนย้ายบ้านหลังนี้

              นายบ็อกด็อง  ใช้เวลาประมาณ  20  วัน  ในเดือนพฤศจิกายน  2535  สำหรับการแกะแบบและถอดชิ้นส่วนบ้าน  เมื่อมหาวิทยาลัยจัดหา

งบประมาณได้แล้ว  ในเดือนมีนาคม  2537  จึงได้เริ่มลงมือประกอบบ้านโดยใช้ช่างมุสลิมท้องถิ่นประมาณ  10  คน  จนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม  

2538  ซึ่งช้ากว่าที่กำหนดเพราะต้องลงรากฐาน  อันเนื่องจากสภาพดินอ่อนและต้องรอสั่งไม้จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนไม้ส่วนที่โดนปลวก

ทำลายในระหว่างที่รอการประกอบ  โดยมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและประกอบเป็นเงินประมาณ  800,000  บาท

              การรื้อบ้านโบราณและประกอบใหม่หลังนี้  เป็นหนึ่งในการย้ายอาคารหลังใหญ่เพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก  และสำหรับบ้านที่มีหลังคาและจั่ว

เช่นบ้านที่พระยาพิบูลพิทยาพรรคสร้างนี้  อาจไม่เคยปรากฏมาก่อน  สถาปนิกและช่างต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำงาน  เพื่อรักษาบ้านให้อยู่ใน

สภาพเดิมมากที่สุด  อย่างไรก็ดีส่วนที่ต่างไปจากเดิมคือเพิ่มชายคาลายฉลุชั้นนอกของบ้านให้เข้ากับที่มีอยู่ชั้นใน  เปลี่ยนจากหลังคากระเบื้องซิเมนต์

ซึ่งจะดูไม่งามเมื่อเก่า  เป็นหลังคากระเบื้องดินเผา  โดยว่าจ้างผู้ผลิตซึ่งเหลืออยู่เพียงผู้เดียวในอำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  ส่วนสีบ้านได้เปลี่ยนจาก

สีฟ้าเป็นสีขาว  เพื่อให้เข้ากับพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน  และกระจกช่องแสงใช้แบบลายแทนแบบฝ้าของเดิม  นอกจากนี้ได้เพิ่มบันไดสอง

ข้างหน้าระเบียงที่ยื่นออกมาจากเฉลียง  ส่วนบันไดด้านหน้าของบ้านในแบบเดิมจะต่อเติมภายหลัง  เมื่อขยายโครงการพิพิธภัณฑ์เปิดกาญจนาภิเษก

เต็มรูปแบบ

              ปัจจุบันสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษา  ภาษา  และวัฒนธรรมสัมพันธ์  ได้ใช้ห้องหนึ่งของบ้านหลังนี้เป็นที่ทำการสถาบัน  ส่วนอื่น  ๆ  

ใช้จัดนิทรรศการชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นร่วมสมัยของพระยาพิบูลพิทยาพรรค  บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพิพิธภัณฑ์เปิดกาญจนาภิเษก  

ซึ่งกำลังอยู่ในชั้นจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป



                                                                                                 *****************



โดย : 203.154.179.21 * [ วันที่ 2001-05-09 18:37:38 ]