รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการสัมมนาความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้
เมื่อวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน 2538 และจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมสัมพันธ์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จ
พระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระองค์ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันพุธที่ 8
พฤศจิกายน 2538
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในและทรงเจริญ
พระชันษาครบ 6 รอบ เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงจัดโครงการสัมมนาความเปลี่ยน
แปลงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคใต้ขึ้นในวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน 2538 ณ หอประชุมสถาบันศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธานใน
พิธีเปิดการสัมมนา เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2538 เวลา 09.00 น. ในงานประกอบด้วยการอภิปรายและการเสนอผลงานการวิจัยที่น่าสนใจ
อาทิ การปาฐกถานำเรื่อง สังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์ โดย ศ. ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง, การอภิปรายเรื่อง วิถีชีวิตของชาวใต้
บนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง โดย ศ. พันตรีอาคม พัฒิยะ, รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม, รศ. ดร. ภูวดล ทรงประเสริฐ และ ผศ. ดร. พีรยศ
ราฮิมมูลา นอกจากนี้ยังมีการเสนอผลการวิจัยและบทความอีกหลายหัวข้อ อาทิ วิวัฒนาการการใช้ทรัพยากรและการจัดระเบียบสังคมทางใต้ โดย
รศ. ดร. ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, วัฒนธรรมการเกษตร : ภูมิปัญญาพื้นบ้านกับการปลูกฝังพฤติกรรมทางจริยธรรม โดย อาจารย์เอี่ยม ทองดี,
ปาฐกถาเรื่อง "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" โดย ดร. อุทัย ดุลยเกษม, การอภิปราย "การศึกษากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม" โดย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์,
ศ. สุวัฒน์ นิยมค้า, ผศ. วิรัช บุญสมบัติ, ดร. หะสัน หมัดหมาน และนายชบ ยอดแก้ว และ "ภาษาและวัฒนธรรมซาไก" โดย ผศ. ไพบูลย์
ดวงจันทร์ เป็นต้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณาจารย์ นักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา และตัวแทน
หน่วยงานที่สนใจประมาณ 150 คน เข้าร่วมการสัมมนา
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่านอกจากการจัดสัมมนาดังกล่าวแล้ว ในโอกาสเดียวกันมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ ก็ได้จัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมสัมพันธ์อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ด้วยหวังว่าผลของการศึกษาจักเป็นประโยชน์ในทาง
วิชาการและนำมาซึ่งความสมานฉันท์และความเข้าใจอันดีของกลุ่มชน จึงดำริจัดตั้งสถาบันกัลยาณิวัฒนาเพื่อการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมสัมพันธ์
ขึ้น ณ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยภาษา ทั้งในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมและเป็นหลักฐานของวัฒนธรรม รวมถึงศึกษาวิจัย
วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเป็นองค์
ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2538 เวลา 14.00 น.
ทั้งนี้ขอบเขตของการศึกษาวิจัยประกอบด้วย การศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนไท ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท ซึ่ง
อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาษากว้างขวางมากกล่าวคือ มีพื้นที่ภาษาอยู่ในบริเวณประเทศจีน อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย การศึกษาวิจัย
ภาษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซีย, การศึกษาวิจัยภาษาไทยเพื่อจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยกับภาษาต่าง ๆ
ในเอเซีย อาทิ ภาษาไทย - มาเลย์, ไทย - เกาหลี เป็นต้น ซึ่งการจัดทำพจนานุกรมสองภาษา จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ภาษาอื่นและ
เป็นการเผยแพร่ภาษาไทยในแพร่หลายไปยังมิตรประเทศ อันจะนำมาซึ่งความเจริญวัฒนาแห่งความสัมพันธ์ข้ามชาติต่อไป
******************
|