สำนักวิจัยและพัฒนา วิทยาเขตปัตตานี และศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี ร่วมศึกษาอ่าวปัตตานีและทางเลือกในการพัฒนา
ซึ่งได้จัดประชุมเสนอผลงานวิจัยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความ
คิดเห็นและตระหนักต่อปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาโดยการวิจัย
รายงานข่าวจากงานประชาสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าการจัดกิจกรรมเสนอรายงานการศึกษาหรือวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา
และพัฒนาอ่าวปัตตานี การศึกษาความต้องการของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี และ
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในเขตเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งจากการประชุมเสนอผลงานวิจัยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา
โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 33 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมเช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิคุ้มครอง
สัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย สมาคมเอิร์ทไอส์แลนด์ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีโครงการ
วิจัยที่น่าสนใจ อาทิ
1. โครงการวิจัยความต้องการของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี
รศ. ดร. ครองชัย หัตถา แผนกวิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่าโครงการวิจัยดังกล่าวเป็นแนวทาง
ในการวางและจัดทำโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น และเป็นการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่
รอบอ่าวปัตตานี ผู้ประกอบการ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณ
อ่าวและพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี
การวิจัยดังกล่าวจะครอบคลุมเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากอ่าว
ปัตตานีได้แก่ ที่ดินพื้นที่อ่าว ป่าชายเลน หาดเลน หาดทรายชายทะเล รวมถึงทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลุ่มตัวอย่างประชากร 11 ตำบล
ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบอ่าว และ
ตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบอ่าว
จากการศึกษาพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งในระดับครัวเรือนและระดับหมู่บ้าน เนื่องจากการ
ขาดความร่วมมือระหว่างชาวบ้านด้วยกัน ปัญหาขาดผู้นำในการจัดการเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเรื่องสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน ส่วนด้าน
ความต้องการที่จะให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมคือ ต้องการให้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เพื่อช่วยกันพัฒนาและจัดการสิ่งแวดล้อม การรณรงค์
เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐและสถานศึกษา สำหรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของ
รัฐที่มี ส่วนมากเป็นความช่วยเหลือจากอนามัยตำบลในเรื่องสุขภาพ ส่วนปัญหาในเรื่องความช่วยเหลือเนื่องจากความช่วยเหลือจากหน่วยงาน
ของรัฐขาดความต่อเนื่อง จะช่วยเหลือเฉพาะเมื่อประสบปัญหาเท่านั้น
2. โครงการวิจัยการศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนประมงขนาดเล็กบริเวณรอบอ่าวปัตตานี : การ
เปลี่ยนแปลงปัญหาและการปรับตัว
ดร. วัฒนา สุกัณศีล ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าอาชีพประมงเป็น
อาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของภาคใต้ โดยเฉพาะชาวประมงขนาดเล็กที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายฝั่งรอบอ่าว
ปัตตานี แต่ทั้งนี้ผลพวงของการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของการประมง
พาณิชย์ การขยายตัวของเมืองและตลาดการส่งออก การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวประมง ตลอดจนภาวะเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอันเนื่อง
มาจากการขยายตัวของธุรกิจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและทรัพยากรอื่น ๆ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาศึกษาอย่างจริงจัง โครงการวิจัยการศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ของชุมชนประมงขนาดเล็กบริเวณรอบอ่าวปัตตานี ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการศึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี จึงมุ่งที่
จะทำความเข้าใจสภาพปัญหาชุมชนประมงขนาดเล็กรอบอ่าวปัตตานี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ
ค้นหาสาเหตุและผลของการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของชาวประมงขนาดเล็ก เพื่อจะได้นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาที่เหมาะ
สมสอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนประมงขนาดเล็กเหล่านี้ต่อไป
******************
|