รายละเอียด :
|
ผศ. ปรีชา ป้องภัย เริ่มเข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม
2511 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป
ข่าวศรีตรัง : มีความรู้สึกอย่างไรที่ได้รับตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผศ. ปรีชา : ไม่มีอะไรเป็นพิเศษในการเข้ารับตำแหน่งคณบดีคนใหม่ แต่ทำให้ต้องคิดเสมอว่าในการรับหน้าที่
ดังกล่าว เป็นการเข้ามาทำงานไม่ได้รับตำแหน่ง จะเห็นว่างานในมหาวิทยาลัยเป็นงานในลักษณะการบริการวิชาการ ไม่ใช่งาน
ระดับบังคับบัญชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในระดับคณะเป็นงานวิชาการ ผู้ที่ทำงานหรือสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะคือ งานด้าน
วิชาการเช่น ถ้ามีอาจารย์เก่ง มีความรู้ ส่งผลให้คณะมีชื่อเสียงด้านวิชาการไปด้วย ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะทำงานภายใต้การ
บังคับบัญชาของคณบดี ซึ่งตรงนี้คณบดีมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นตำแหน่งคณบดีหรือผู้บังคับบัญชานั้นไม่ใช่ตำแหน่งที่มายินดีอะไรนัก แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบในหน้าที่
มากกว่า
ข่าวศรีตรัง : เป้าหมายและแนวนโยบายในการทำงาน
ผศ. ปรีชา : หลักการบริหารคงไม่แตกต่างไปจากแนวนโยบายเดิมที่ดีอยู่แล้วและมีการปรับปรุงบ้างตามยุค
ตามสมัย สำหรับแนวความคิดในการบริหารงานนั้น "ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น" ภายใต้ขีดจำกัดที่มีอยู่
สำหรับจุดเด่นของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอยู่ 5 ประการคือ ความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขา
ที่พัฒนาและก้าวหน้าได้รวดเร็วและความเป็นเอกลักษณ์ในการเป็นสาขาเดียวในวิทยาเขต ประการที่ 2 มีการได้เปรียบกว่า
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสถาบันอื่น ๆ ในด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีความหลากหลายในพื้นที่ ทำให้มี
สาขาวิชาที่สอดคล้องกับชุมชนและพื้นที่มาก เช่น สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมง สาขาเทคโนโลยียางและ
โพลิเมอร์ ฯลฯ ประการที่ 3 ความเหมาะสมและความสะดวกในพื้นที่ในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น ประเทศ
มาเลเซียและประเทศในกลุ่มเกาะสุมาตรา ย่อมมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการได้สะดวกและรวดเร็ว ประการที่ 4 ในความ
เป็นคณะใหม่ ณ วิทยาเขตปัตตานี ย่อมมีศักยภาพสูงกว่าและมีแนวทางในการพัฒนาอีกยาวไกล ประการสุดท้าย จาก
การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถานศึกษาที่มีที่พักของนักศึกษาและอาจารย์พร้อม ส่งผลให้
อาจารย์และนักศึกษามีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอน ไม่ต้องแข่งกับเวลาเหมือนเช่นสถาบัน
การศึกษาในกรุงเทพฯ
สำหรับการพัฒนาของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรอบ 10 ปีนั้น ได้มีการผลิตบัณฑิตกว่า 1,000
คน ในการรองรับความต้องการของชุมชนและตลาดแรงงาน นอกจากได้เปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรีแล้ว ยังได้รับ
อนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยฯ เปิดรับหลักสูตรปริญญาโทสาขาแรกของคณะคือ สาขาวิชาวิธีวิทยาการวิจัยและในหลักสูตร
ต่อไปที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีโพลิเมอร์
ข่าวศรีตรัง : โครงการในด้านการพัฒนาบุคลากรในคณะฯ
ผศ. ปรีชา : มีการส่งเสริมให้บุคลากรในคณะฯ มีการฝึกอบรมหรือศึกษาต่อ ซึ่งทางคณะวิทยาศาตร์และ
เทคโนโลยี ได้เปรียบตรงที่มีการติดต่อประสานงานกับสถาบันในต่างประเทศอยู่แล้ว จึงมีโอกาสในการเปิดรับบุคลากรคณะ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการฝึกอบรมและเข้าศึกษาต่อ
ข่าวศรีตรัง : ของฝากจากคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผศ. ปรีชา : ในการที่คณะฯ ผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ย่อมมีความต้องการที่จะให้
บัณฑิตเหล่านั้นกลับมาทำประโยชน์ให้คณะฯ ต่อ แต่ทั้งนี้ในความเป็นสถาบันการศึกษาของทางราชการ ย่อมไม่มีสิ่งจูงใจ
เช่น อัตราเงินเดือนที่เหมาะสมให้แก่บัณฑิตเหล่านั้น จึงทำให้ผู้ที่มีความสามารถและคณะฯ ประสงค์อยากได้ร่วมงานกลับ
ต้องไปรับใช้ทำประโยชน์ในภาคเอกชนแทน และนอกจากนี้ในความเป็นคณะฯ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้อง
มีความก้าวหน้าและพัฒนาทั้งทางความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ให้ทันต่อโลกปัจจุบัน แต่ทั้งนี้รัฐยังไม่มีการสนับสนุนหรือ
อำนวยความสะดวกในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอเช่น อุปกรณ์ต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นมีราคาแพง แต่
รัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอ ส่งผลให้เกิดความล้าหลังในที่สุด ซึ่งย่อมจะไม่สอดคล้องกับชื่อสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้เป็นอุปสรรคมากในการบริหาร
*******************
|