: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 8 ฉบับที่ 02 ประจำเดือน 02 2538
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี ร่วมแปดองค์กรประสานเครือข่ายชุมชนรักป่า
รายละเอียด :
                    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับ  8  องค์กร  สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้าง

เครือข่ายชุมชนรักป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ส่งผลผลักดันให้เกิดนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น

         รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  แจ้งว่าในเขตพื้นที่  4  จังหวัดชายแดน

ภาคใต้ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  และสตูล  มีความเชื่อมโยงของระบบนิเวศน์ป่าไม้  นับตั้งแต่ระบบ

นิเวศน์ป่าต้นน้ำบนภูเขา  ป่าพรุ  ซึ่งเป็นป่ารองรับซับน้ำจนถึงแนวป่าสันทรายและป่าชายเลน  ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งบำบัด

น้ำเสียสำคัญของธรรมชาติ  ระบบนิเวศน์ของป่าไม้ทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันและกัน  เพื่อรักษาดุลยภาพของ

ระบบนิเวศน์ทั้งหมดให้มีความยั่งยืน  แต่ปัจจุบันระบบป่าไม้ดังกล่าวกำลังถูกทำลาย  เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น  

ประกอบกับนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการผลิตเพิ่มมากขึ้น  ทำให้ทรัพยากรถูกทำลายอย่างรวดเร็ว  ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ไม่สามารถป้องกันได้  จึงสมควรให้อำนาจการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชน  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์และ

จัดการป่าไม้  และสถาบันของรัฐควรมีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาทางวิชาการให้กับองค์กรชาวบ้าน

         นายนุกูล  รัตนดากุล  อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต

ปัตตานี  และหัวหน้าโครงการประสานเครือข่ายชุมชนรักป่า  เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นกลาง  สามารถช่วย

ประสานจุดร่วมระหว่างนโยบายของรัฐกับความคิดของชุมชน  จึงได้จัดโครงการประสานเครือข่ายชุมชนรักป่า  ร่วมกับ  

8  องค์กร  อาทิ  มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  สมาคมเอิรท์ไอส์แลนด์  

ชมรมประมงขนาดเล็กจังหวัดปัตตานี  ฯลฯ  ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพขององค์กรชาวบ้านในการอนุรักษ์

และจัดการทรัพยากรป่าไม้ภายในท้องถิ่นด้วยตนเอง

         หัวหน้าโครงการประสานเครือข่ายชุมชนรักป่า  กล่าวเสริมถึงโครงการว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการ

ประสานเพื่อการทำงานร่วมกันและลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ  เป็นการแก้ปัญหาและการพัฒนามาจากระดับ

ล่างและผลักดันให้เกิดนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น  นอกจากประสานเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเพื่อรักษา

และจัดการป่าแล้ว  โครงการดังกล่าวมีการนำเสนอสาระของระบบเกษตรธรรมชาติเกี่ยวกับวนเกษตรในการจัดการป่า

ด้วย  เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ป่าได้เพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนตลอดไป  ซึ่งจะดำเนินโครงการระหว่างเดือนมกราคม

จนถึงเดือนธันวาคม  2538  โดยจะดำเนินการในพื้นที่อำเภอสายบุรี  อำเภอยะหริ่ง  จังหวัดปัตตานี  อำเภอรามัน  

จังหวัดยะลา  และอำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส  เป็นพื้นที่แรกและจะมีการสำรวจในพื้นที่อื่น  ๆ  ต่อไป

         ผศ. ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า

มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มีศักยภาพหรือความพร้อมที่จะช่วยส่งเสริม  สนับสนุน

องค์กรชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดความมั่นใจในการทำงานดังกล่าว  อีกทั้งเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัย

ในเรื่องของการบริการทางวิชาการแก่ชุมชน  ซึ่งเท่าที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้ดำเนินมาแล้วใน

ระดับหนึ่งซึ่งจะต้องประสานงานต่อไป  เพื่อให้เกิดเครือข่ายอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่จะทำให้

เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนให้ชุมชนอยู่รอด  และมีอำนาจในการจัดการป่าด้วยตนเองต่อไป



                                                                       ******************



โดย : 203.154.179.21 * [ วันที่ 2001-05-06 18:00:47 ]