มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาทั้งทางวิชาการ
ธุรกิจ และบริการชุมชน รวม 4 รุ่น ยืนยันไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา แต่ยังเอื้อต่อการปลูกป่าชายเลน
รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ดำเนินการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน รวม 4 รุ่น ซึ่งเป็นโครงการทดลองสาธิตการเพาะ
เลี้ยงในเนื้อที่ 130 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้าวิจัยของอาจารย์ นักศึกษา และหน่วยงานของรัฐที่
เกี่ยวข้องและสนใจ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาและสาธิตให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่างจนนำไปประยุกต์ได้ และนำ
รายได้ไปพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนา รุ่นที่ 4 ว่าโครงการได้ขยายบ่อเลี้ยงเพิ่ม
ขึ้นจาก 11 บ่อ เป็น 13 บ่อ และได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทั้งทางด้านวิชาการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่ง
บริการให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เข้าศึกษาข้อมูลและวิธีการเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนา
ประกอบกับการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้ำเสียจากบ่อกุ้ง จะได้รับการบำบัดก่อนปล่อยลง
สู่ทะเล ขี้เลนก้นบ่อใช้วิธีการตากบ่อและขุดลอก นำออกจากพื้นบ่อไปถมบริเวณที่ลุ่มภายในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ดูดทิ้งลงทะเล
นอกจากนี้ป่าไม้ชายเลนที่มหาวิทยาลัยปลูกไว้ในพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ เจริญงอกงามกว่าบริเวณอื่น ทั้งนี้เพราะน้ำที่รั่วซึม
จากบ่อกุ้ง ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นตลอดเวลา ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูก
*****************
|