รายละเอียด :
|
ในโอกาสที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอายุครบ 20 ปี ในปี 2537
ข่าวศรีตรังขอนำบทสัมภาษณ์ ผศ. มะเนาะ ยูเด็น คณบดีคนแรกและคนปัจจุบันของคณะ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีมาถึง 4
สมัย รวม 16 ปี มาพูดคุยเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของคณะฯ ดังนี้
ข่าวศรีตรัง : ขอทราบความเป็นมาของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
คณบดี : "โครงการจัดตั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีมาตั้งแต่ปี 2516 โดยในระยะแรก
ได้ร่างโครงการจัดตั้งชื่อว่า คณะมานุษยศาสตร์ แต่ทางทบวงให้ใช้ชื่อว่าคณะมนุษยศาสตร์และนำโครงการจัดตั้งคณะ
สังคมศาสตร์มารวมกัน จึงใช้ชื่อว่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยผมเองเป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้งฯ ตั้ง
แต่ปี 2516 หลังจากได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งคณะฯ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2517 ก็ได้รับมอบหมายจากเพื่อนร่วมงาน
ให้เป็นคณบดีสมัยที่ 1 และสมัยที่ 2 ติดต่อกัน 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2517 - 2521 และ 2521 - 2525 และสมัยที่ 4
และ 5 ปี 2529 - 2533 และ 2533 - 2537 รวม 16 ปี เมื่อเริ่มจัดตั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แยก
สาขาวิชาภาษาไทย ภาษาตะวันตก และสังคมศาสตร์ มาจากคณะศึกษาศาสตร์ จนปัจจุบันคณะประกอบด้วย 7 ภาควิชา
คือ ภาควิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันตก ภาควิชาสังคมศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ภาควิชาปรัชญาและ
ศาสนา ภาควิชาภาษาตะวันออก และภาควิชาประวัติศาสตร์และศิลปะ และมีโครงการจัดตั้งภาควิชาภูมิศาสตร์"
ข่าวศรีตรัง : ขอทราบความภาคภูมิใจในผลงานของคณะฯ
คณบดี : ความภาคภูมิใจก็คือ การเปิดวิชาเอกพัฒนาสังคม ซึ่งยังไม่มีที่ไหนทำกัน อาจจะมีก็แต่
พัฒนาชนบทหรือพัฒนาชุมชน ซึ่งความหมายก็แคบเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่การพัฒนาสังคมเป็นการพัฒนาทุกด้าน ทั้งด้าน
สิ่งแวดล้อมและบุคคลที่เป็นสมาชิกของสังคม"
"ปัจจุบันคณะฯ ผลิตบัณฑิตใน 16 สาขาวิชาเอก เป็นวิชาเอกทางภาษาถึง 10 ภาษา และการที่เรามีวิชา
เอกทางภาษาเช่น ภาษาจีน ภาษาอาหรับ และภาษามลายู ซึ่งเป็นของใหม่ที่ไม่มีในสถาบันใดในประเทศไทยเป็นสิ่งที่น่า
ภาคภูมิใจ โดยเฉพาะวิชาเอกภาษาจีน ของเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเปิดเป็นวิชาเอกมาตั้งแต่ปี 2523
เป็นต้นมา ปัจจุบันผลิตบัณฑิตเป็นรุ่นที่ 15 แล้ว บัณฑิตของเราเป็นผู้มีคุณสมบัติทางภาษาจีนทั้งในวงราชการและภาค
ธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วนวิชาภาษาอาหรับเราเพิ่งเริ่มเปิดเป็นวิชาเอก คิดว่าต่อไปคงประสบ
ความสำเร็จเช่นเดียวกับภาษาจีน เพราะเดิมความเข้าใจของคนทั่วไปมักมองกันว่า เรียนวิชาภาษาอาหรับเพื่อศาสนาอิสลาม
หรือเพื่อวัฒนธรรมของตะวันออกกลาง แต่ความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยต้องการผู้รู้ภาษาอาหรับในธุรกิจการ
ท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สำหรับสาขาวิชาใหม่ แต่ยังไม่เป็นวิชาเอกคือวิชาภาษาเกาหลี ซึ่งเราเปิดสอนเป็นแห่งแรกของ
ประเทศ โดยมีอาจารย์ชาวเกาหลีมาช่วยสอน"
ข่าวศรีตรัง : ขอทราบแผนงานต่อไปของคณะ
คณบดี : งานแรกที่เร่งด่วนคือ การพยายามแยกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ออกเป็น 2 คณะ
คือแยกคณะสังคมศาสตร์ออกมา แต่ก็ไม่ทราบว่าจะได้รับการสนับสนุนแค่ไหน ความจริงแล้วการแยกคณะก็ไม่ได้ทำให้ต้อง
เสียงบประมาณมากหรือเป็นภาระแก่รัฐบาลมากนัก แต่ก็จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานทั้ง 2 คณะมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ภาควิชาภูมิศาสตร์ จะเป็นภาควิชาที่มีลักษณะทางวิทยาศาสตร์กายภาพ จะต้องใช้งบประมาณทางห้องแล็ป
และเครื่องไม้เครื่องมือมาก ในปัจจุบันภาควิชาภูมิศาสตร์จะดึงงบประมาณไปมาก ทำให้ภาคอื่นไม่สามารถจัดกิจกรรม
ทางการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าทางคณะของบประมาณเพิ่ม เขาก็มองว่าคณะไม่มีความจำเป็นต้องมีเครื่องไม้
เครื่องมือหรือห้องแล็ป จึงทำให้เกิดความลำบากใจ ทั้งที่วิชาทางภูมิศาสตร์มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพราะ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ภูมิศาสตร์กายภาพจึงนับว่าเป็นกระดูกสันหลังของวิชาทางด้านการเกษตร เช่น
เดียวกับที่ชีววิทยาเป็นพื้นฐานทางแพทย์และโลหะวิทยาเป็นวิชาหลักทางวิศวกรรมศาสตร์"
"หลังจากแยกคณะสังคมศาสตร์ออกมาเป็นคณะใหม่ ก็จะสามารถนำสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ที่อยู่ใน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ออกมา ซึ่งได้แก่ รัฐศาสตร์ พัฒนาสังคม สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์
และสามารถเพิ่มกลุ่มวิชาทางเศรษฐศาสตร์ขึ้น
นอกจากนี้คณะยังมีโครงการขยายฐานะวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาษาอาหรับ ภาษามลายู ให้เพิ่มความสำคัญมาก
ขึ้นเป็นการเร่งด่วน เพื่อรองรับโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ"
ข่าวศรีตรัง : ในโอกาสครบรอบ 20 ปี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะฯ ได้จัดกิจกรรม
เฉลิมฉลองอะไรขึ้นมาบ้าง
คณบดี : "โอกาสที่คณะมีอายุครบ 20 ปี ในสังคมไทยถือว่าบรรลุนิติภาวะ ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชน
ก็บวชได้แล้ว เราก็มีกิจกรรมเฉลิมฉลองหลายอย่างทั้งที่เป็นกิจกรรมที่เป็นวิชาการ กิจกรรมเพื่อสังคม และการหาทุนเพื่อ
พัฒนาสนับสนุนงานทางวิชาการ"
"ทางด้านสังคมเรามีงานคืนสู่เหย้าให้กับบัณฑิตของคณะที่จบไปแล้วประมาณ 2,500 คน เพื่อให้ผู้ที่จบ
ไปได้มาเห็นความก้าวหน้าของคณะ คณะก็จะได้ทราบความก้าวหน้าของบัณฑิต และจะได้ช่วยกันทำให้กิจกรรมของทั้ง
สองฝ่ายพัฒนาด้วยดีขึ้น ทั้งนี้กำหนดจัดงานคืนสู่เหย้า ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2537"
"ส่วนกิจกรรมทางวิชาการ คณะได้จัดกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่ต้นปีมาแล้วได้แก่ การสัมมนาทางวิชาการเกี่ยว
กับการเมืองการปกครองของหัวเมืองภาคใต้ของภาควิชาประวัติศาสตร์ และจะจัดสัมมนาเกี่ยวกับคนเชื้อสายจีนที่เข้ามาตั้ง
รกรากและประสบความสำเร็จในจังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีนิทรรศการของภาควิชาต่าง ๆ การจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก
จัดทำประวัติและผลงานของบุคลากร และผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ของคณะไว้เป็นที่ระลึก"
"งานที่สำคัญก็คือ การจัดกิจกรรมหารายได้เพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิ โดยจะจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 เวลา 21.00 น. ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้โดยได้รับความเมตตาจาก ฯพณฯ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ ในการสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากนี้คณะก็มีกิจกรรมรายการทาง
โทรทัศน์ในลักษณะเดียวกันนี้แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 10 หาดใหญ่ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2537 เวลา 12.00 -
13.30 น. ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาทุนอย่างเดียว แต่ที่สำคัญก็เพื่อให้ผู้ชมและผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องการศึกษาได้เห็นความ
สำคัญของการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะในสังคมไทยเรารู้สึกว่าผู้รับผิดชอบในระดับต่าง ๆ ไม่ว่า
รัฐบาล ทบวง หรือมหาวิทยาลัย อาจจะมองเห็นว่าการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีความสำคัญน้อยกว่า
การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การศึกษาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีผลต่อตัว
บุคคลและสังคมชัดเจน เพราะการที่คนจะดีจะเลวจะมีจริยธรรมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคม
ศาสตร์ ส่วนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง"
"สำหรับการจัดตั้งมูลนิธิในโอกาสที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีอายุครบ 20 ปี ก็มีวัตถุประสงค์
4 ประการคือ 1. สนับสนุนด้านการเรียนในคณะ 2. เป็นทุนสำหรับนักศึกษาทั้งที่เรียนดีและที่ขาดแคลน 3. สนับสนุน
บุคลากรในด้านการศึกษาและการวิจัย และประการที่ 4 ก็เพื่อจัดกิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม ทั้งนี้เนื่องจากเราเป็น
มหาวิทยาลัยในภูมิภาค ที่สังคมนี้ยังขาดโอกาสหรือมีโอกาสน้อยกว่าทุกภูมิภาค จึงจำเป็นต้องให้การบริการวิชาการแก่
สังคมค่อนข้างมาก"
******************
|