รายละเอียด :
|
นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบแหล่งกรดฮิวมิกในดินบริเวณพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส สามารถ
นำไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดิน เพื่อใช้ประโยชนทางการเกษตรกรรมและเป็นสารดูดซับโลหะหนักบางตัวที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อมได้
การสำรวจแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อนำไปผลิตสารปรับปรุงดินใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นสิ่ง
จำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากในแต่ละปีต้องนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ในประเทศเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร
กรรม ได้มีการใช้ดินเพื่อการเกษตรมาเป็นระยะเวลานานโดยขาดการบำรุงดิน ซึ่งมีผลทำให้ดินเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีพื้นที่
คุณภาพต่ำอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อใช้ในการเกษตร
รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่านักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ได้ทำการศึกษาแหล่งวัตถุดิบกรดฮิวมิก โดยสำรวจและวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาปริมาณกรดฮิวมิกในดินบริเวณพื้นที่พรุ จังหวัด
นราธิวาส จำนวน 5 ชุด ได้แก่ ดินระแงะ ดินมูโน๊ะ ดินนราธิวาส 1 ดินนราธิวาส 2 และดินกาบแดง โดยทำการศึกษาตั้งแต่ระดับผิว
ดินลงไปจนถึงความลึกประมาณ 100 - 200 เซนติเมตร
ผศ. ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ผู้วิจัยเรื่อง การสำรวจปริมาณกรดฮิวมิกในดินบริเวณพื้นที่พรุ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่าจากการสำรวจปริมาณกรด
ฮิวมิกพบว่า ดินพรุแต่ละบริเวณที่ศึกษามีความแตกต่างของปริมาณกรดฮิวมิก ผลสรุปปรากฏว่าดินนราธิวาสทั้ง 2 บริเวณที่ศึกษาและ
ดินกาบแดง เป็นดินที่สามารถสกัดกรดฮิวมิกได้ในปริมาณสูง จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตกรดฮิวมิกเชิงอุตสาหกรรม เพื่อใช้
ประโยชน์ในด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม การใช้กรดฮิวมิกเป็นสารบำรุงดินนั้น ปรากฏว่าได้มีการใช้อย่างได้ผลมาแล้วทั้งต่างประเทศและ
ในประเทศ สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจ้าว ข้าวหอมบาสมาตี ยาสูบ กาแฟ ส้ม พริก และอื่น ๆ กรดฮิวมิกมีคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยน
ประจุสูง ซึ่งเป็นผลให้สามารถดูดซับธาตุอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและป้องกันการชะล้างธาตุอาหารออกไปจากดินได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นยังมีส่วนสำคัญในการกักเก็บและปลดปล่อยความชื้นในดินอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ดินขาดความชื้น
ประเทศไทยได้นำเข้ากรดฮิวมิกจากต่างประเทศในรูปของสารปรับปรุงดินภาคใต้ ชื่อการค้าเป็นฮิวมิกา เฟสติโฟล วิกริโฟล
ฯลฯ จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกา มาร่วม 10 ปีแล้ว ดังนั้นหากได้เร่งระดมสำรวจแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ
และพัฒนาการผลิตเชิงอุตสาหกรรมแล้ว จะสามารถลดการนำเข้าได้เป็นอย่างมาก นอกจากแหล่งวัตถุดิบประเภทดินพรุแล้ว ยังสามารถ
สกัดกรดฮิวมิกได้จากถ่านหิน เศษซากพืช และมูลสัตว์ เป็นต้น ในการศึกษาดังกล่าวยังพบว่าน้ำจากพรุที่ระลายทิ้งลงทะเล มีปริมาณสาร
กรดฮิวมิกปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศไทยมีพื้นที่พรุประมาณ 400,000 ไร่ เฉพาะจังหวัดนราธิวาสมีพรุประมาณ 280,000 ไร่
จึงนับว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญควรที่จะศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์จากพรุให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิด
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผศ. ดร. ครองชัย หัตถา นักวิจัยกล่าวสรุป
****************
|