รายละเอียด :
|
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนและ
สำนักงานโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ณ เขาท่าเพชร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และทรงเป็นองค์ประธาน
เปิดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ โรงแรมสยามธานี จ.สุราษฎร์ธานี
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม 2536
เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม 2536 เวลา 11.15 น. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จ
ประทับเครื่องบินพระที่นั่งจากท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศมาถึงท่าอากาศยานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เวลา
12.00 น. หลังจากได้เสด็จไปพักพระอิริยาบท ณ โรงแรมสยามธานีแล้ว ได้เสด็จไปยังบริเวณพิธีเขาท่าเพชร อ.เมือง
จ.สุราษฎร์ธานี ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนและสำนักงานโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี หลังจากนั้น รศ. ดร.
ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กราบทูลเบิกผู้บริจาคสมทบกองทุนโครงการจัดตั้ง
วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีเข้าเฝ้าถวายเงิน เมื่อเสด็จพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว ได้เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังโรงแรม
สยามธานี อธิการบดีกราบทูลเบิกผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2536 เข้าเฝ้าและเบิกนักศึกษาเข้า
รับพระราชทานทุนสงขลานครินทร์ หลังจากนั้นทรงเป็นองค์ประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ
มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ทรงปิดการประชุมและทรงฉายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริม
กิจการมหาวิทยาลัยฯ และเสด็จประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น.
สำหรับอาคารชุดแรกที่วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีจะสร้างคือ อาคารสำนักงานวิทยาเขต (ซึ่งใช้เป็นอาคาร
เรียนและสำนักงานวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานีด้วย) และอาคารหอประชุม โดยกำหนดให้เขตนี้เป็นเขตบริหาร มีพื้นที่
ประมาณ 32 ไร่ เนื้อที่กลุ่มอาคารทั้งหมด 6,880 ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้นประมาณ 8,882 ตารางเมตร
ด้วยเหตุที่การขยายงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเป้าหมายและแผนงานเพื่อการจัด
ตั้งวิทยาเขต โดยมีโครงการจัดตั้งคณะวิชาต่าง ๆ ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
และคณะบริหารธุรกิจ เป็นต้น การก่อสร้างจึงต้องเริ่มจากอาคารสำนักงานก่อนและจะใช้เป็นอาคารเรียนด้วยในระยะ
เริ่มโครงการ ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งที่จะสร้างพร้อมกันคือ อาคารหอประชุมเพื่อใช้ในการจัดประชุมหรือบรรยายแก่
นักศึกษาจำนวนมากเช่น การปฐมนิเทศ การไหว้ครู การแจกประกาศนียบัตรหรือปริญญา จึงจำเป็นต้องเริ่มก่อสร้าง
ในระยะแรกของโครงการ เขตบริหารนี้ได้กำหนดไว้ในผังแม่บทให้เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานอธิการบดีและหอประชุม
ใหญ่ เป็นที่ตั้งเสาธงชาติ ซึ่งมองเห็นเป็นสง่า ประตูใหญ่ของศูนย์ท่าเพชรจะเข้ามาสู่เขตนี้ จะมีบริเวณที่จอดรถยนต์
และรถบัสสำหรับผู้มาติดต่อ และจะมีอาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมทักษิณอยู่บริเวณนี้ด้วย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่ง
หนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอาคารสำนักงานวิทยาเขตสุราษฎร์ธานีและหอประชุม จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 450
วัน ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2537 วงเงินก่อสร้าง 45,700,000 บาท (สี่สิบห้าล้าน
เจ็ดแสนบาทถ้วน)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ มีเจตนารมณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งที่จะให้
เป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต เพื่อสามารถเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้า วิจัย และเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นได้อย่างแท้
จริง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีศูนย์การศึกษาที่วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตปัตตานี โครงการจัดตั้งวิทยาเขตภูเก็ต โครง
การขยายการศึกษาที่จังหวัดตรัง และโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี สำหรับโครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
ได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในหลักสูตรการโรงแรมและการท่องเที่ยว จำนวน 40 คน ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร
ใช้เวลาศึกษา 2 ปี เปิดเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2533 โดยใช้อาคารสโมสรจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลังเก่า เป็น
สำนักงานและอาคารเรียน ซึ่งหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงทุนซ่อมแซม
ปรับปรุงอาคารสโมสรหลังแรกเป็นเงินประมาณ 700,000 บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) ต่อมาจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้อนุมัติ
การขอใช้อาคารสโมสรจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลังที่ 2 ให้เป็นสถานที่เรียนและห้องสมุดเป็นการชั่วคราว โดยหอการค้า
จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารหลังที่ 2 เสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้การได้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน
2534 โดยใช้งบประมาณอีก 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) และได้ทำพิธีเปิดสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2536 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี
มีนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตร 2 ปี ในหลักสูตรการโรงแรมและการท่องเที่ยว 76 คน หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
41 คน และหลักสูตรการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 50 คน รวมนักศึกษาทั้งสิ้น 167 คน
ทางด้านการจัดหาที่ดิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ยื่นเรื่องราวขอใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ
จำนวน 3 แปลงคือ ป่าเขาท่าเพชร อ.เมือง, ป่าทุ่งใสไช อ.ไชยา และป่าบางเขา - คลองเซียด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
ซึ่งปรากฏผลดังนี้
เขาท่าเพชร ได้รับอนุมัติให้ใช้ประโยชน์ได้จำนวน 440 ไร่เศษ ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดทำผัง
แม่บทเสร็จแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารสำนักงานวิทยาเขตและหอประชุม
ป่าทุ่งใสไช ได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน 4,000 ไร่ อยู่ในระหว่างการเจรจาทดแทนผลอาสินและการ
จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร คาดว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะแรกประมาณ 2,000 - 2,500 ไร่
ป่าบางเขา - คลองเซียด ได้ดำเนินการเจรจากับราษฎร ซึ่งได้ขอร้องให้มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์เฉพาะพื้นที่
สวนป่าก่อน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ยินยอมดำเนินการตามขอ โดยลดพื้นที่ขอใช้ลงเหลือ 6,300 ไร่ ขณะนี้กำลังขออนุมัติจาก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
*****************
|