รายละเอียด :
|
สัมมนาอ่าวปัตตานี อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้ผลเกินคาด ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดตั้ง "องค์กร
อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งปัตตานี หรือ อฟป." ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดขึ้นเพื่อแสวงหาทางออกให้เกิดความร่วมมือกันในการฟื้นฟูอ่าวปัตตานี เมื่อวันที่
5 - 6 กันยายน 2536
การสัมมนาอ่าวปัตตานี อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและภาค
เอกชนเข้าร่วมสัมมนารวม 25 องค์กร อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและ
พรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมเอิร์ธไอส์แลนด์ กองทัพภาคที่ 4 สำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี
ชมรมประมงขนาดเล็กในจังหวัดปัตตานี และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดร. ปรียา วิริยานนท์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ชี้แจงว่าอ่าวปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่ 74 ตารางกิโลเมตร รอบพื้นที่อ่าวปัตตานีประกอบ
ด้วยชุมชน 14 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 6 หมื่นคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก ตลอดช่วง 10 ปี
ที่ผ่านมา แนวโน้มการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันอ่าวปัตตานี
ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของเอเซีย (Asian Wetland Burean) โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อ
การอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union Conservation of Natural Resources) เนื่องจากมีนกน้ำซึ่ง
บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวปัตตานีอย่างหนาแน่น
ดร. ปรียา วิริยานนท์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลสรุปการสัมมนาอ่าวปัตตานี ครั้งที่ 2 ในหัวข้อเรื่อง "แนวทาง
การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากอ่าวปัตตานี" เมื่อวันที่ 21 - 23 สิงหาคม 2535 ว่าปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นต่ออ่าวปัตตานี
ในปัจจุบันคือ ปัญหาจากนากุ้ง โรงงานอุตสาหกรรม องค์การสะพานปลา ท่าเทียบเรือและแหล่งชุมชน ต่างปล่อยน้ำเสีย
โดยขาดระบบการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ น้ำเสียเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่อ่าวทำให้อ่าวเกิดสภาพเน่าเหม็น มีสารโลหะ
ปนเปื้อนมากกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือ สารหนู สารตะกั่ว และสารแคดเมียม ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อเข้าไป
สะสมในสัตว์น้ำ ทำให้เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้
นายลายิ สาแม กำนันตำบลแหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เปิดเผยว่าในอดีตบริเวณอ่าวปัตตานีอุดมสมบูรณ์
ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชาติเช่น ปลากะพง ปลากะรัง กุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ
ทางเศรษฐกิจคือ สาหร่ายผมนาง พบเป็นปริมาณมากและมีราคาค่อนข้างสูงในเชิงอุตสาหกรรมท้องถิ่น การที่ในอดีตมี
ทรัพยากรเหล่านี้มาก เพราะกลุ่มคนที่อยู่รอบอ่าวปัตตานีส่วนใหญ่ยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่จะไม่มุ่งสะสม
แต่จะจับสัตว์น้ำเฉพาะที่เพียงพอแก่ความต้องการ ถ้าเกินความต้องการก็จะปล่อยกลับสู่ท้องทะเล แต่ในปัจจุบันทรัพยากร
เหล่านี้เริ่มหมดไป เนื่องจากมีผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ยังผลให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในอ่าว
ปัตตานีคือ มีการรุกล้ำสิทธิน่านน้ำชายฝั่ง 3,000 เมตร โดยมีเรือประมงพาณิชย์ เรืออวนลาก อวนรุน เป็นการทำลาย
ปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์น้ำวัยอ่อน จนทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ไป
ด้านความสัมฤทธิ์ผลในการจัดสัมมนาอ่าวปัตตานี อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผู้เข้าสัมมนาได้สรุปมุมมองใน
อนาคตของอ่าวปัตตานี ในแง่ของการใช้ประโยชน์จากอ่าวปัตตานีว่า ควรจะมีการศึกษาถึงผลกระทบและความเหมาะสม
ในแต่ละกิจกรรม ควรจัดโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ในแหล่งพื้นที่เดียวกัน เพื่อจะได้ควบคุมมลพิษและควรมีการประเมิน
ผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนจะอนุญาตให้มีการจัดตั้งโรงงาน
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงการ
สัมมนาในครั้งนี้ว่า ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมาก ผู้เข้าสัมมนาตื่นตัวในการฟื้นฟูสภาพอ่าวปัตตานี มีการจัดตั้งองค์กร
อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งปัตตานี หรือ อฟป. ซึ่งมีคณะกรรมการ 15 คน จากผู้เข้าสัมมนาประมาณ 100
คน โดยคณะกรรมการดังกล่าวมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชมรมประมงชายฝั่งปะนาเระ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง อ.ยะหริ่ง
จ.ปัตตานี ซึ่งกลุ่ม อฟป. หรือองค์การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งปัตตานี จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูสภาพอ่าวปัตตานี
ตลอดจนให้มีการจัดการด้านทรัพยากรอย่างเป็นระบบ อันจะยังผลให้ราษฎรประมาณ 60,000 คน จาก 14 หมู่บ้าน
รอบอ่าวปัตตานี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ก็โดยการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนดังกล่าว โดยสามารถติดต่อ
ประสานงานได้ที่ กลุ่มองค์กรอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งปัตตานี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
*****************
|