รายละเอียด :
|
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการอบรมเข้มครูสอน
ภาษาและวัฒนธรรมอาหรับ ให้แก่ครูสอนศาสนาและสอนภาษาอาหรับในโรงเรียนและมัสยิดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม - 16 สิงหาคม 2536 ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย
ผศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าโครงการอบรมเข้มครูสอนภาษาและ
วัฒนธรรมอาหรับครั้งนี้ เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ กับมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย มีกำหนดอบรมเข้มเป็นเวลา 1 เดือนคือตั้งแต่
วันที่ 21 กรกฎาคม - 16 สิงหาคม 2536 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาหลักในการ
เรียนการสอนวิชาศาสนาอิสลามแก่ครูผู้สอนวิชาภาษาอาหรับและวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
มัสยิด และสถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเข้าร่วมสัมมนารวม 100 คน
ในการสัมมนาภาษาและวัฒนธรรมอาหรับในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้พระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งราช-
อาณาจักรซาอุดิอารเบีย ทั้งในด้านงบประมาณที่ใช้ในการจัดการสัมมนาและวิทยากร ซึ่งเป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย
อิสลามแห่งมะดีนะฮ ประเทศซาอุดิอารเบีย รวม 8 ท่าน โดยการนำของศาสตราจารย์ ดร. มุฮัมมัด เคาะลีฟะฮ์
อัตตะมีมีย์ หัวหน้าคณะวิทยากรที่มาอยู่ประจำ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตลอดระยะเวลา
การสัมมนานาน 1 เดือน
หลักสูตรการอบรมในหัวข้อภาษาและวัฒนธรรมอาหรับที่สัมมนาประกอบด้วย วิชาที่เกี่ยวข้องกับหะดิษ
(วจนะ), ชีวประวัติของศาสดามูฮัมหมัด, วิชาบรรยายอัลกุรอาน, วิชาเกี่ยวกับหลักศรัทธา, วิชาการเขียนและวิธีการ
สอนภาษาอาหรับ นอกจากผู้เข้าสัมมนารวม 100 คน ที่เข้าร่วมสัมมนาแล้ว วิทยาลัยอิสลามศึกษา ยังเปิดโอกาสให้
นักศึกษาผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายด้วย
รองอธิการบดี แจ้งต่อไปว่าโครงการอบรมเข้มครูสอนภาษาและวัฒนธรรมอาหรับนี้ เป็นความร่วมมือ
ทางวิชาการระหว่างประเทศที่สำคัญและนับเป็นโครงการนำร่องโครงการแรกระหว่างสถาบันทั้งสอง และเชื่อว่าจะมี
โครงการต่อเนื่องจากโครงการนี้อีก เนื่องจากประเทศซาอุดิอารเบียเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม เป็นต้นกำเนิดของ
อารยธรรมอิสลามและอารยธรรมภาษาอาหรับ มีความก้าวหน้าเป็นต้นแบบที่ประเทศต่าง ๆ ที่สอนวิชาศาสนาและ
ภาษาอาหรับ ต้องการศึกษาและรับการถ่ายทอดภาษาอาหรับ นอกจากจะเป็นภาษาหลักในการศึกษาศาสนาอิสลามของ
มุสลิมทั่วโลกแล้ว ยังเป็นภาษาหนึ่งของสหประชาชาติและประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศใน
ตะวันออกกลาง ซึ่งใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร การธุรกิจ นับว่าเป็นภาษาหนึ่งของโลกที่สำคัญ
ยิ่ง และจากพื้นฐานความสัมพันธ์ครั้งนี้จะเป็นฐานขยายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอารเบีย
ให้ฟื้นคืน และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นดังเช่นอดีตและจะพัฒนายิ่งขึ้นในอนาคต
*******************
|