ฝ่ายกิจการนักศึกษาและองค์การนักศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบของการรับน้องใหม่ เพื่อสร้างความ
ประทับใจและอบอุ่นใจแก่สมาชิกใหม่ และให้ออกมาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ โดยส่งตัวแทนนักศึกษาทั้งจากองค์การ
บริหารองค์การนักศึกษาและสโมสรนักศึกษา ไปร่วมสัมมนารูปแบบกิจกรรมรับน้องใหม่ที่ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด
หลังจากนั้นฝ่ายกิจการนักศึกษาได้จัดสัมมนาเพื่อหารูปแบบกิจกรรมรับน้อง ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้วางแผนออกแบบกิจกรรม ตลอดจนการสร้างกติกาด้วยตนเองให้สมกับปรัชญาในการ
สร้างเสริมการปกครองตนเองของนักศึกษา
ผู้รับผิดชอบหลักคือแกนรับน้องชายและแกนหญิง ซึ่งเป็นคณะทำงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และจะ
ประสานกับองค์กรอื่นในการสร้างการรับน้องที่หลากหลายและประทับใจ ซึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรับน้องได้แก่
การพาน้องไปนมัสการหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้ เมื่อวันแรกที่เดินทางมาถึงปัตตานี และต่อด้วยการรับ
น้องมาลัยที่เป็นเอกลักษณ์ของวิทยาเขตปัตตานี โดยกิจกรรมทั้งสองนี้องค์การนักศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ
ในวันปฐมนิเทศนักศึกษาที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ นอกเหนือจากพิธีการในหอประชุมแล้ว
ในภาคกลางคืน ฝ่ายกิจการนักศึกษาได้ริเริ่มงาน "ต้อนรับศรีตรังช่อใหม่" โดยมีการแสดงนาฏศิลป์ท้องถิ่น การ
ออกร้านอาหาร ณ บริเวณหน้าอาคารเรียนรวม เพื่อเป็นงานต้อนรับนักศึกษาใหม่และผู้ปกครอง อีกทั้งสร้างความ
เข้าใจอันดีในวัฒนธรรมท้องถิ่นและร่วมพบปะสังสรรค์ในหมู่นักศึกษารุ่นน้อง รุ่นพี่ ผู้ปกคกรองและอาจารย์ของ
วิทยาเขตปัตตานี
การปลูกป่าชายเลนเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เนื่องในพิธีรับน้องอีกกิจกรรมหนึ่งที่ริเริ่มขึ้นในปีนี้
เพื่อให้ความสัมพันธ์หมู่นักศึกษานั้น มีพลังต่อการสร้างสรรค์สังคมด้วยมิใช่สัมพันธ์กันเพื่อความสนุกสนานเพียง
อย่างเดียว โดยได้ปลูกต้นโกงกางและแสมบริเวณหาดชายเลนหน้ามหาวิทยาลัย เพื่อสร้างป่าชายเลนขึ้นมาใหม่
การรณรงค์การแต่งกายของน้องใหม่ การฝึกการใช้โรงอาหารที่ถูกต้องเช่น การเข้าคิวซื้อ การเก็บ
ภาชนะหลังจากรับประทานแล้ว เป็นต้น
การแข่งขันกีฬาและเกมสำหรับน้องใหม่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างน้อง ๆ
จักรยานทัวร์ จัดโดยองค์การบริหารองค์การนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้รู้จักสถานที่สำคัญใน
จังหวัด เข้าใจสภาพชีวิตของชุมชน และรู้จักการใช้จักรยานที่ถูกวิธี โดยมีเส้นทางผ่านกรือเซะ หมู่บ้านชาวไทย
มุสลิม และสิ้นสุดที่หาดตะโล๊ะกาโปร์ และร่วมกิจกรรมสัมพันธ์กัน
การรับน้องหอพัก อันเป็นจุดที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง แม้ว่าแกนจัดพยายามอย่างดีในการ
สร้างกิจกรรมรับน้องหอที่เหมาะสม แต่เพราะนักศึกษาใหม่หลายคน ตลอดจนอาจารย์ส่วนหนึ่งรับไม่ได้กับกิจกรรม
บางอย่างของการรับน้องหอ ประกอบกับการที่รุ่นพี่ส่วนหนึ่งที่ไม่รู้กติตาที่แกนร่วมวางไว้ ได้ฝ่าฝืน ใช้พฤติกรรม
ที่ไม่เหมาะสมต่อน้องใหม่ งานรับน้องหอนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน
การซ้อมเชียร์ เพื่อเน้นให้นักศึกษารู้จักและร้องเพลงประจำคณะ เพลงประจำมหาวิทยาลัยได้ เป็น
กิจกรรมที่สนุกสนานในบรรยากาศที่เป็นมิตรไมตรีระหว่างน้องพี่
การรับน้องมหาวิทยาลัยที่เป็นงานรวมที่องค์การบริหารองค์การนักศึกษาได้จัดขึ้น อันถือว่าเป็นจุด
สำคัญของการรับน้อง ซึ่งมีทั้งภาคพิธีการคือ การตักบาตรร่วมกันในตอนเช้า พิธีเจิมหน้าผากโดยคณะอาจารย์ให้
แก่น้องใหม่ และการลอดซุ้มต่าง ๆ ในภาคบ่าย
ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์บุคลากรต่าง ๆ ต่อการรับน้องใหม่ปีนี้
ท่านเห็นอย่างไรบ้างต่อกรณีการรับน้องที่กำลังเป็นข้อขัดแย้งทางความคิดในสังคม ม.อ. จนมีใบปลิว
ต่อต้านการรับน้อง
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา : ผมว่าภาพรวมของกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับน้อง
นั้นพัฒนาขึ้นมากเช่น กิจกรรมน้องใหม่บำเพ็ญประโยชน์ด้วยการปลูกป่าชานเลน แต่ก็ยอมรับว่ามันมีบางจุดที่เป็นข้อ
บกพร่องที่ต้องแก้ไขเช่น รุ่นพี่บางคนสนุกสนานเกินไป จนกลายเป็นการใช้ความรุนแรงกับน้องโดยไม่ได้ตั้งใจ อัน
เป็นจุดด้อยในกิจกรรมโดยภาพรวมของกระบวนการรับน้อง แต่มันเป็นภาพที่โดดเด่น จนดูว่าการรับน้องนั้นเป็นภาพ
ที่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม เราเน้นในเรื่องของประชาธิปไตย เรื่องของปรัชญาแห่งการปกครองตนเองของนักศึกษา
ดังนั้นผมจะไม่ใช้วิธีสั่งการว่านักศึกษาไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ หรือต้องทำอย่างนี้ แต่จะให้ความคิดให้เขาไปคิดต่อ
ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ ประเพณีของนักศึกษาก็คือวิถีชีวิตของเขา ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ก็ควรขึ้นกับสมาชิก
ของสังคมของเขาเช่นกัน การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยนั้นต้องใช้เวลาและกระบวนการประชาธิปไตยด้วย
ไม่ใช่ใช้วิถีทางเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตย
อาจารย์ท่านหนึ่ง : นักศึกษาของเรายังมีความคิดที่ล้าสมัยในเรื่องของการรับน้องอยู่มาก ในขณะ
ที่บรรยากาศทางการเมืองเต็มไปด้วยกลิ่นอายประชาธิปไตย แต่นักศึกษาส่วนหนึ่งยังจมกับรูปแบบกิจกรรมเก่า ๆ
ที่ค่อนข้างจะรับใช้ความคิดของเผด็จการ ริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของน้อง ภาพบางภาพจากการรับน้องหอ มัน
คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ที่ถนนราชดำเนินนะคะ คนจัดอาจคิดไม่ถึงก็ได้ แต่ก็ยอมรับว่าโดยภาพรวมแล้ว งานรับ
น้องใหม่ในปีนี้ได้รับการพัฒนาจากปีก่อน ๆ มากขึ้น
อาจารย์อีกท่านหนึ่ง : การวิจารณ์งานรับน้องนั้น ต้องวิจารณ์หลังจากดูภาพรวมด้วย มิใช่ดูเพียง
บางจุดและโจมตีการรับน้องทั้งกระบวน อาจารย์ทุกคนต้องช่วยกันสร้างสรรค์ ต้องติเพื่อก่อมิใช่เพื่อทำลาย ปัญหา
ที่เกิดขึ้นนั้นคงเพราะตีความ SOTUS ผิดไปของนักศึกษาบางคน จึงต้องให้ความคิดของ SOTUS ที่ถูกต้อง
แก่นักศึกษาใหม่ สิ่งที่สร้างปัญหาของงานรับน้องคงหมดไปในที่สุด
การว้าก : การว้ากของเรา ก็อยู่บนพื้นฐานกติกาที่ร่วมกันวางไว้ มีการประเมินผลกันทุกคืน แต่
ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการไม่เคารพต่อกติกาของรุ่นพี่ส่วนน้องบางคน แต่คิดว่ารุ่นพี่ทุกคนรักและปรารถนาดีต่อ
น้อง ๆ ทุกคน กิจกรรมว้ากมันก็เหมือนละคอนบทหนึ่ง ไม่มีรุ่นพี่คนไหนโกรธเกลียด หรือมีอคติต่อน้อง พี่ดีใจที่
น้องมา สำหรับพี่ที่สร้างปัญหานั้น ก็ควรที่จะได้รับการลงโทษ เพราะเรามีกติกาไว้แล้ว
น้องใหม่ : รุ่นพี่บางคนทำให้รับน้องโดยภาพรวมเสียครับ
ศิษย์เก่า : กิจกรรมทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตามสภาพของสังคม มิฉะนั้นจะถูกสังคมปฏิเสธ
หากน้อง ๆ ไม่อยากให้มหาวิทยาลัยถูกการปฏิเสธ กิจกรรมบางอย่างต้องได้รับการทบทวน โดยเฉพาะกิจกรรม
การรับน้องที่ยึดติดกับรูปแบบเก่า ๆ
กิจกรรมทุกกิจกรรมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ควรรักษาไว้ อะไรที่บกพร่องต้อง
ได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขต่อไป เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อสังคม ความคิดเห็น ข้อวิจารณ์ที่แตกต่าง
กัน ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการตรวจสอบทางสังคม เพื่อพัฒนาต่อไป สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือความสัมพันธ์
ในหมู่นิสิตนักศึกษานั้น ต้องมีเพื่อการสร้างสรรค์สังคม มิใช่เพื่อความสนุกสนานเพียงชั่วครู่ยาม อย่างฉาบฉวย
ฝ่ายกิจการนักศึกษาและองค์กรขององค์การนักศึกษาทุกองค์กร จะได้ร่วมมือกันในการพัฒนากิจกรรมรับน้องใหม่
ในปีต่อ ๆ ไป ให้รับใช้สังคมและสร้างความประทับใจต่อบรรยากาศของมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น
*********************
|