รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PRINCE OF SONGKLA UNIVERSITY) ชื่อย่อ ม.อ. ซึ่งมาจากอักษร
ย่อพระนามเดิมของ สมเด็จพระบรมราชชนก เจ้าฟ้า "มหิดลอดุลยเดช" คำว่า สงขลานครินทร์ คือพระนามฐานันดรศักดิ์ที่
พระบรมราชชนก (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าฟ้า "มหิดลอดุลยเดช"
ดำรงพระนามอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้ากรม โดยพระราชทานชื่อเมืองสงขลา เป็นพระนามทรงกรมเพื่อเป็นเกียรติแก่เมือง
สงขลา เมื่อ พ.ศ. 2446 เสมือนเป็นเจ้าแห่งนครสงขลา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อ พ.ศ.
2509 ในขณะดำเนินการก่อสร้างที่จังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยไม่มีชื่อเป็นทางการ จึงใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยภาคใต้"
(THE UNIVERSITY OF SOUTHERN THAILAND) และมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคาร
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคืออาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ต่อมาในวันที่ 22
กันยายน 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" ตามพระนามฐานันดร
ศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ จากพระมหากรุณาธิคุณนี้ มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22
กันยายน ของทุก ๆ ปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดเป็น "วันสงขลานครินทร์"
ในปี 2510 มหาวิทยาลัยก็เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย
จำนวน 50 คน โดยใช้อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกัน ในด้านการบริหารนั้น
ในวันที่ 12 มีนาคม 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น
มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดเป็น
"วันสถาปนามหาวิทยาลัย"
ในปี 2511 มหาวิทยาลัยก็เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์รุ่นแรก จำนวน 60 คน โดยในภาคการ
ศึกษาแรกก็ยังคงใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อการก่อสร้างอาคารที่ปัตตานี
แล้วเสร็จเป็นบางส่วนในภาคการศึกษาที่ 2 คณะอาจารย์และนักศึกษาก็ได้ย้ายมาที่ศูนย์ปัตตานีพร้อมกัน ในวันที่ 9
พฤศจิกายน 2511 ส่วนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ยังคงอาศัยเรียนที่กรุงเทพฯ ต่อไป การก่อสร้างมหาวิทยาลัย
ที่ศูนย์ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นั้นเริ่มก่อสร้างในปี 2512 ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2514
อาจารย์และนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีที่ 2, 3 และ 4 ประมาณ 200 คน ก็ย้ายมาประจำที่ศูนย์หาดใหญ่
(วิทยาเขตหาดใหญ่) ส่วนนักศึกษาปีที่ 1 ก็ยังคงเรียนที่กรุงเทพฯ และย้ายตามลงมาในปลายปีการศึกษา 2514
สำหรับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดรุ่นแรกในปี 2512 จำนวน 60 คน และบุคลากรหน่วยงานต่าง ๆ
ของมหาวิทยาลัย ก็ย้ายมายังศูนย์หาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2514 เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แบ่งการบริหารออกเป็น 2 วิทยาเขต 1 วิทยาลัยชุมชน และ
2 โครงการขยายเขตการศึกษาคือ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต โครงการขยายเขต
การศึกษาของมหาวิทยาลัยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและที่จังหวัดตรัง
ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีคณะและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตรวม 13
คณะวิชา วิทยาเขตหาดใหญ่ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะ
วิทยาการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และ
บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาเขตปัตตานีประกอบด้วย คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยา
ศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาลัยอิสลามศึกษา
ด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่เด่นชัดในการสนับสนุนส่งเสริมโครงการวิจัยของทุกคณะและ
หน่วยงานให้มีคุณภาพ และมีผลต่อการพัฒนาประเทศไทยเฉพาะท้องถิ่นภาคใต้ มีงานวิจัยทั้งที่เริ่มใหม่และวิจัย
ต่อเนื่องรวม 220 โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานของรัฐและต่างประเทศ เป็นเงินประมาณ
27.2 ล้านบาท
ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ทุกคณะจัดการบริการวิชาการแก่สังคมใน
สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีองค์กรเฉพาะที่รับผิดชอบงานบริการวิชาการเป็นส่วนรวม ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนภูเก็ต สำนัก
ส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ฝ่ายข้อมูลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทะเลสาบสงขลา ศูนย์อาหารและโภชนาการและ
โครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนสุราษฎร์ธานี ซึ่งจัดฝึกอบรมทางวิชาการและวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น เป็นหลักสูตร
เบ็ดเสร็จ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่แก่ท้องถิ่น
ด้านการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลทันตกรรม เป็นโรงพยาบาลศูนย์
กลางของภาคใต้ ที่ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป ปัจจุบันโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีเตียงบริการผู้ป่วย
ใน 650 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกได้วันละ 1,100 ราย โรงพยาบาลทันตกรรม บริการผู้ป่วยได้วันละ 450 ราย
และจะขยายให้สามารถให้บริการได้วันละ 900 ราย ในอนาคต
ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมีโครงการจัดตั้งสถาบันศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อเป็น
แหล่งทัศนศึกษา วิจัยศิลปวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ และสังคม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในส่วนของภาคใต้
ตอนล่างโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยมุสลิม ปัจจุบันได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาและพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณ-
โมลี ให้บริการด้านเอกชนข้อมูลแก่ประชาชนทั่วไปและมีผู้สนใจเข้าชมปีละ 3,500 คน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการ
ดำเนินงานของชมรมนักศึกษาที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ชมรมพุทธศาสตร์ ชมรมคริสเตียน และชมรมมุสลิม จัดงาน
ประเพณีต่าง ๆ ส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ สนับสนุนการแข่งขันกีฬาปันจักสีลัต
ซึ่งมีพื้นฐานจากกีฬาของท้องถิ่น โดยส่งนักกีฬาเป็นตัวแทนของประเทศแข่งขันชิงชนะเลิศระดับนานาชาติ
*******************
|