สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แต่งตั้งนายผดุงยศ ดวงมาลา ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8
ภาควิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้รักษาการในตำแหน่งรองอธิการบดีวิทยาเขต
ปัตตานี อีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไป
ข่าวศรีตรังจึงขอแนะนำรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของวิทยาเขตปัตตานี พร้อม
ทั้งนโยบายการบริหารมาให้ท่านทราบดังนี้
ประวัติ
เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ที่จังหวัดศรีสะเกษ จบการศึกษาระดับประชาบาลที่จังหวัดศรีสะเกษ จบ
การศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาโทจากจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรสูงกว่าปริญญาโทจาก SHIZUOKA UNIVERSITY ประเทศญี่ปุ่น เริ่มเข้าทำงาน
ครั้งแรกที่กรมการฝึกหัดครู เมื่อปี 2515 - 2519 และในปี 2520 ได้โอนมาสังกัดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันอายุ 43 ปี
นโยบายการบริหาร
ในชั้นแรกก็ต้องดูว่างานไหนเป็นงานที่ทำเสร็จไปแล้ว และงานไหนเป็นงานที่ต่อเนื่องจากทีมบริหารชุดที่
แล้วที่จะต้องทำต่อ และนอกจากนี้ก็ต้องคิดงานใหม่ขึ้นมาด้วย ในส่วนของนโยบายซึ่งก็มีแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 7
ซึ่งเป็นกรอบอยู่แล้วที่จะต้องปฏิบัติไปตามนั้น แต่ก็อาจปรับได้ตามความเหมาะสม ซึ่งโดยหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็มี
หน้าที่หลักอยู่แล้วคือ
การผลิตบัณฑิต ก็ต้องพิจารณาว่าสาขาวิชาใดที่จะขยาย สาขาวิชาใดที่จะต้องคงเอาไว้ และสาขาใดจะ
เน้นหนักในทางบัณฑิตศึกษา ในส่วนของคณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ก็จะมุ่งเน้นในระดับปริญญาโทมากขึ้น
ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะต้องขยายให้ได้สัดส่วนกับความต้องการกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ
การวิจัย เราจำเป็นจะต้องสร้างความรู้ใหม่ของเราเอง จริง ๆ แล้วงานวิจัยในมหาวิทยาลัยที่นี่ยังน้อยอยู่และ
ยังไม่เป็นอย่างจริงจัง เพราะเรามีภาระงานสอนค่อนข้างมาก เราจึงเน้นภาระงานสอนมากกว่างานวิจัย ต่อไปนี้เราก็ตั้งเป้า
หมายไว้ว่าเราจะสนับสนุนงานวิจัยให้มากขึ้น งานวิจัยก็มีทั้ง 2 แบบคือ งานวิจัยพื้นฐานเพื่อหาความรู้ใหม่ ๆ ในสาขา
วิชาต่าง ๆ ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาด้วย เป็นการวิจัยเชิงประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
การบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นมหาวิทยาลัย
ในภูมิภาคภาคใต้ เพราะฉะนั้นภาระหน้าที่ที่สำคัญก็คือ การช่วยให้ประชาชนภาคใต้มีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุก ๆ
ด้าน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยก็ได้ทำงานด้านนี้อยู่พอสมควร ต่อไปก็ต้องทำให้มากขึ้นและให้เห็นผลอย่างจริงจังมากขึ้น
ซึ่งก็คงจะต้องร่วมกับกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ในภูมิภาคแห่งนี้ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ที่เราพูดกันมากก็ในเรื่องการ
พัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของเราให้มีความเป็นนานาชาติให้มากขึ้น ซึ่งก็ชี้ไว้ชัดในแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 7 ความ
จริงมหาวิทยาลัยก็มีความเป็นสากลอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้ทำอย่างชัดเจนเท่าไร ความเป็นสากลหรือนานาชาติก็หมายความ
ว่าเราต้องติดต่อกับนานาชาติมากยิ่งขึ้น ในความร่วมมือทางวิชาการ ทางการวิจัย การแลกเปลี่ยนอาจารย์ การแลกเปลี่ยน
นักศึกษา รวมทั้งการเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากนานาประเทศได้มาศึกษาที่นี่มากขึ้น อาจจะต้องมีการปรับหลักสูตรบาง
หลักสูตรให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน และหลายสาขาวิชาก็จะต้องใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเรียนในด้าน
ไทยคดีศึกษา ซึ่งปัจจุบันเรามีนักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและจากเกาหลีมาเรียนที่นี่ ซึ่งก็เป็นโครงการร่วมที่ดำเนินมาหลาย
ปีแล้ว นอกจากนี้ก็มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์ แต่ก็ยังมีไม่มากนักและมีโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยอีกด้วย
การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งเรามีโครงการจัดตั้งศูนย์
การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ ซึ่งก็เป็นโครงการอยู่ เรากำลังจะปรับเปลี่ยนให้เป็นสถาบันศิลปวัฒนธรรมในแผนพัฒนาการศึกษา
ฉบับที่ 7 ซึ่งจะทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะใน
เรื่องคติชนวิทยา ซึ่งมีแผนที่จะทำมากขึ้น
ในส่วนของนักศึกษา นอกจากจะเน้นพัฒนาในเรื่องความรู้แล้ว ก็จะเน้นในเรื่องให้เขามีความคิด ไม่ใช่จะมี
ความรู้ในเรื่องที่จะต้องท่อง ๆ จำ ๆ แล้วก็จบไปเท่านั้น จะเน้นให้เขาคิดสร้างสรรค์ ให้รู้จักมองสังคมส่วนรวมมากกว่า
มองตนเอง กิจกรรมนักศึกษาที่มีอยู่จะต้องปรับเปลี่ยนทั้งเนื้อหาทั้งรูปแบบ เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่ามีความ
หมายและรับผิดชอบสังคมมากขึ้น
ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความเฉพาะตัวมีสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตที่พิเศษ
กว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ก็มีความตั้งใจว่าจะร่วมมือกับองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ช่วยกันพัฒนาเพื่อคงความ
เป็นเอกลักษณ์ ความพิเศษนี้ไว้โดยให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตรฐานชีวิตดีขึ้น
ปัญหาสมองไหล ปัจจุบันเราก็ประสบกับภาวะบุคลากรส่วนหนึ่งของเราลาออก ซึ่งก็ทยอยลาออกบ่อย ๆ
ทั้งอาจจะเนื่องมาจากว่าที่ตั้งของเราไกลจากศูนย์ของประเทศมากเกินไป หรือเพราะความสะดวกสบายน่าอยู่น้อยกว่า
ก็เลยมีความคิดว่าทำอย่างไรเราจะรักษาคนของเราไว้ได้ จึงต้องหันมาดูในเรื่องสวัสดิการในเรื่องการให้ค่าตอบแทน
สวัสดิการที่พัก เพื่อให้เขาอยู่ที่นี่ได้โดยไม่เดือดร้อน ตอนนี้กำลังพิจารณาเรื่องสวัสดิการบ้านพัก ซึ่งค่อนข้างขาดแคลน
จึงต้องพิจารณาว่าควรจะให้ใครก่อนหลัง ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้การบริการเอื้อต่อการทำงานในมหา-
วิทยาลัยมากขึ้น
จากการที่มองว่ามหาวิทยาลัยควรจะเป็นผู้นำสังคม ไป ๆ มา ๆ ทำท่าจะนำไม่ได้ แค่ตามก็จะไม่ทัน
อยู่แล้ว เพราะความเป็นระบบราชการแบบทุกวันนี้เป็นตัวที่ดึงไว้ ทำให้เราเสียกำลังคนที่ควรรักษาไว้ไปเช่น ทางด้าน
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สองวันนี้ก็ลาออกไปแล้ว 2 คน เพราะจบปริญญาโทเราให้ห้าพันกว่าบาท แต่บริษัทให้
หมื่นห้าพันบาท แล้วบอกว่าไปอยู่แต่ 6 เดือนเขาก็เพิ่มให้อีก เราก็ดึงไว้ไม่ได้เพราะเราไม่สามารถให้เงินเดือนเขาเท่า
กับบริษัทเอกชนให้ ทำให้เราสูญเสียกำลังคนไป จึงต้องพยายามหาวิธีการที่จะหามาตรการที่จะรักษาบุคลากรไว้ ก็
โดยการปรับในเรื่องสวัสดิการให้ที่นี่น่าอยู่ แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุใหญ่เพราะเมื่อเขามาอยู่แล้วก็มักจะชอบบรรยากาศที่นี่
แต่ก็มีหลายอย่างให้เขาคิดเช่น เรื่องครอบครัวว่าเมื่ออยู่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ก็มีโรงเรียนดี ๆ ให้ลูกหลาน
ได้เข้าศึกษา ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งจริง ๆ แล้วการที่ตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคนี้ก็เป็นการถูกต้องแล้ว เพราะจะ
ได้บรรยากาศของการศึกษา ไม่ใช่ไปตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีบรรยากาศของธุรกิจ ที่นี่เหมาะกับการศึกษาวิจัยที่
ตั้งมหาวิทยาลัยของเราท้าทายนักวิชาการนักการศึกษา
ในเรื่องของการขยายการศึกษา เดิมทีกำหนดให้วิทยาเขตปัตตานีเป็นศูนย์ในการศึกษาทางด้านสังคม
ศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เราได้พิจารณากันว่าการจะให้เป็นวิทยาเขตที่สมบูรณ์ มันจำเป็นต้องมีวิทยาศาสตร์ด้วย
เราจึงตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา เพื่อให้แกร่งในเรื่องของฐานไว้ก่อน เวลานี้เราไม่พูดถึงว่าหาดใหญ่
จะต้องเน้นทางวิทยาศาสตร์ เน้นทางการแพทย์ วิศวกรรม แต่เราพูดว่าความพร้อมและความเหมาะสมของวิทยาเขต
ไหนที่จะขยายก็สามารถทำได้ แต่การขยายนั้นต้องไม่กระทบหรือดึงคนหรือชิงงบประมาณกันเอง เพื่อที่จะทำเรื่อง
เดียวกัน กล่าวคือถ้าหลีกเลี่ยงในเรื่องความซ้ำซ้อนได้ก็หลีกเลี่ยงก่อน ในแผนฯ 7 นี้วิทยาเขตปัตตานีก็จะเปิดคณะ
วิทยาการสื่อสารอีกคณะหนึ่ง โดยจะเน้นในเรื่องเทคโนโลยีการศึกษา ปัจจุบันเรามีกองอยู่สองกองคือ กองธุรการและ
กองบริการการศึกษา ในแผนฯ 7 นี้ก็จะเพิ่มอีก 2 กองคือกองกิจการนักศึกษาและกองอาคารสถานที่
กิจกรรมรับน้องใหม่ของนักศึกษา
นโยบายการรับน้องใหม่ของนักศึกษารุ่นพี่ ทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามในเรื่องการรับน้องใหม่ แต่ต้องทำ
อย่างมีความหมาย ทำอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล ให้น้องรู้ว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อความแข็งแกร่ง ทำเพื่อให้เขารัก
กันเพื่อสามัคคีกัน โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัวน้อง น้องที่ป่วยน้องที่มีปัญหาต้องแยกออก ซึ่งตอนนี้เราก็ทำได้แล้ว กิจกรรม
รับน้องจะต้องเสร็จสิ้นภายในสองสัปดาห์ หลังจากนั้นจะต้องตั้งใจเรียน โดยนโยบายนี้ก็ผ่านทางฝ่ายกิจการนักศึกษา
และองค์การบริหารองค์การนักศึกษา สำหรับรายละเอียดในการรับน้องใหม่ ทางนักศึกษาจะเป็นผู้วางกฎกติกามาให้
มหาวิทยาลัยทราบ แล้วเขาก็จะปฏิบัติไปตามนั้นก็ไม่เกิดปัญหาอะไร
***********************
|