มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คัดเลือกอาจารย์ตัวอย่างประจำปีการศึกษา 2533 จำนวน 4 ท่าน เพื่อ
ส่งเสริมและประกาศเกียรติคุณอาจารย์ตัวอย่างทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลป
วัฒนธรรม ได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศและประกาศเกียรติคุณในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533 ณ วิทยาเขตหาดใหญ่
ด้านการเรียนการสอน
ผศ. ดร. วัน เดชพิชัย ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่
หลักคือ การสอนได้อย่างดีเยี่ยม มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้สอนที่นักศึกษายอมรับว่าอธิบายเข้าใจง่าย
มีการเตรียมการสอน มีอุปกรณ์การสอนอย่างดี เนื้อหาทันสมัย และแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทำให้นักศึกษา
ได้รับแนวคิดที่ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทั้งยังดูแลสั่งสอนในเรื่องคุณธรรมแก่นักศึกษาด้วย นอกจากงานสอนภายใน
มหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งยังได้รับเกียรติ
เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. 2530 - 2532 และเคย
ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ๆ เช่น หัวหน้าภาควิชาการศึกษา รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี
นอกเหนือจากงานต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ผศ. ดร. วัน เดชพิชัย ยังเป็นผู้ที่นักศึกษาให้ความเคารพ
ศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ในลักษณะบุคลิกภาพที่เป็นมิตรเป็นกันเองแก่ศิษย์ วางตัวเหมาะสมกับความเป็นอาจารย์ รวมทั้ง
มีความประพฤติดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี และวางตัวได้อย่างเหมาะสม
ด้านการวิจัย
รศ. ดร. ไพศาล เหล่าสุวรรณ ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้ที่มีความรู้ความ
สามารถ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะได้
ทำการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ และอุทิศตนเพื่อการวิจัยตลอดมา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพืชตระกูลถั่ว ผลงาน
วิจัยที่สำคัญคือ การปรับปรุงถั่วเขียวพันธุ์ มอ. 1 ซึ่งเป็นถั่วเขียวพันธุ์ใหม่ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกจนเป็นที่ยอมรับ
และได้รับการรับรองพันธุ์จากกรรมการพืชพันธุ์แห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยพืชน้ำมันและ
ระบบการปลูกพืช ตลอดจนวางแผนพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาแล้วก็เป็น
ประโยชน์ต่อภาคใต้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษา (consultant) ของโครงการพัฒนาพืช
น้ำมันไทย - ประชาคมยุโรป ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยน้ำมันปาล์ม หัวหน้าโครงการพืชอาหารถั่ว และหัวหน้าโครงการ
วิจัยหลายโครงการ
ด้านบริการวิชาการ
รศ. ดร. วัฒนา ประทุมสินธุ์ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้มี
ความรู้ความสามารถ มีผลงานด้านบริการวิชาการดีเด่น และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการศึกษาถึงปัญหาและ
การให้บริการด้านอาหารโภชนาการของท้องถิ่นภาคใต้ โดยเน้นในเรื่องการนำพืชผักและอาหารท้องถิ่นมาใช้ให้เป็น
ประโยชน์สูงสุด และการอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารโภชนาการ สุขาภิบาลบ้านเรือน อุตสาหกรรมอาหารระดับ
ครัวเรือน รวมทั้งการเกษตรภายในครัวเรือนให้แก่ประชาชน ผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักศึกษา นักเรียน ผู้นำชุมชน
ผู้นำศาสนา ผู้นำสตรีและเยาวชน และยังเป็นผู้ที่ริเริ่มโครงการที่สามารถให้ความรู้ทางวิชาการนำมาทำให้เกิดการ
สร้างงาน โดยพยายามให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพในรูปของการสนับสนุนอุปกรณ์การ
ประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ในด้านเกียรติคุณและรางวัล ได้รับ Special Service Award โดย Alumni Organization
of The College of Home Economics at The University of Missouri Columbia และได้รับ
รางวัลนักวิชาชีพดีเด่น (ส่วนภูมิภาค) ประจำปี 2532 ของสหพันธ์สมาคมสตรีบัณฑิตอีกด้วย
นอกเหนือจากงานด้านต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว รศ. ดร. วัฒนา ประทุมสินธุ์ ยังได้ร่วมเสนอผลงาน
ในการประชุมทางวิชาการระหว่างชาติเรื่อง Asean Food Habitates Project ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเรื่อง
ความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งจัดโดยสมาคมสหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และการที่ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรใน
การประชุมครั้งสำคัญ ๆ นับว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการอย่างดีเลิศ
ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
อาจารย์สมชาย พูลพิพัฒน์ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
เป็นอาจารย์ที่ปฏิบัติงานสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของไทยมาโดยตลอด ได้อุทิศการทำงานเพื่อการบำรุง
ศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง เป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในการสอนศิลปะแขนงต่าง ๆ อาทิ กระบี่กระบอง การแสดง
พื้นเมืองภาคใต้ โขน และละครต่าง ๆ นอกจากงานสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังจัดสอนและฝึกซ้อมนักศึกษาให้
สามารถแสดงศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามและมีคุณค่าของไทยอยู่ตลอดเวลา ทั้งจัดการแสดงและร่วมแสดงศิลปวัฒนธรรม
ไทยด้านโขน ละคร การรำ การละเล่นพื้นเมือง และการแสดงเบ็ดเตล็ดทั้งของไทยภาคใต้และไทยภาคอื่น ๆ ในนาม
ของมหาวิทยาลัยเป็นประจำ รวมทั้งเป็นวิทยากรบรรยายด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับหน่วยงานภายนอก และยังได้นำเอา
ศิลปะการแสดงออกสัญจรไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยจัดทำเป็นโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมสัญจรอีกด้วย เพื่อให้
ประชานจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสชมศิลปะการแสดงของภาคอื่น ๆ ตลอดจนได้คิดค้นระบำพื้นเมือง 2 ชุดคือ
ชุดระบำผัดข้าวและชุดการสัมมนาตัวตลกในหนังตลุง โดยเป็นผู้ฝึกซ้อมและร่วมแสดงด้วย นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่มอบ
ให้กับปวงชนอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อมหาวิทยาลัยอย่างมาก นอกจากนี้อาจารย์สมชาย พูลพิพัฒน์ ยัง
ได้รับเกียรติบัตรด้านเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปีพุทธศักราช 2530 และได้รับโล่เชิดชู
เกียรติจากจังหวัดปัตตานีด้วย
*********************
|