คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประสบความ
สำเร็จในการวิจัยการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ในระดับมาตรฐานโลก สามารถให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยียาง
แก่โรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศได้อย่างกว้างขวาง
รศ. พรพรรณ นิธิอุทัย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยี ผู้ทำวิจัยการทำถุงมือยางทางการแพทย์ เปิดเผยว่าแต่เดิมอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยใช้ยางแห้ง
เป็นพื้นฐาน เพราะการเก็บรักษาน้ำยางให้คงสภาพอยู่ได้นานนั้น ยังไม่เป็นที่รู้จักกันนัก ดังนั้นการทำผลิตภัณฑ์จาก
น้ำยางจึงไม่เป็นที่แพร่หลาย ยกเว้นกรณีที่ทำลูกโป่งและฟองยางเท่านั้นที่เป็นที่นิยมทำเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง
โครงการวิจัยนี้เริ่มในปี 2530 ซึ่งในปีนั้นยังไม่มีการผลิตถุงมือยางในประเทศไทย การทำวิจัยจึง
เป็นการทำวิจัยนำ เพื่อให้เป็นแนวทางให้เกิดการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานขึ้นในประเทศไทย
โดยใช้เวลาทำการวิจัยหนึ่งปีครึ่ง
ถุงมือยางทางการแพทย์เป็นผลิตภัณฑ์ยางอย่างหนึ่งซึ่งทำจากน้ำยาง มีวิธีการทำคล้ายกับการทำ
ลูกโป่งทั่วไป แต่ถุงมือทางการแพทย์มีมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด ซึ่งน้ำยางผสมสารเคมีที่ใช้ทำลูกโป่งนั้น
ไม่อาจทำให้มีสมบัติเข้ามาตรฐานที่กำหนด แม้ว่าประเทศไทยสามารถจะผลิตลูกโป่งได้มาเป็นเวลานานแล้ว
แต่ไม่สามารถผลิตถุงมือทางการแพทย์ได้
ผลจากการวิจัยทำให้ได้สูตรการผลิตถุงมือยางที่ได้มาตรฐานระดับโลก แม้ว่าจะใช้ความร้อนอบ
ฆ่าเชื้อแล้ว ถุงมือก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับวิธีการทำถุงมือยางนี้ใช้ขบวนการชุบ (Dipping Process)
กล่าวคือขั้นแรกจะต้องชุบเบ้ารูปมือลงในน้ำยาที่ทำให้น้ำยางจับตัว (Coagulant) แล้วนำไปนึ่งให้แห้งเล็กน้อย
แล้วชุบลงในน้ำยางผสมสารเคมี (Latexcompound) หลังจากนั้นจึงนำไปอบให้แห้ง แล้วล้างน้ำเพื่อให้สารเคมี
ที่ค้างหลุดแล้วอบแห้งอีกครั้ง จึงถอดออกจากแบบชุบเป็นอันเสร็จขั้นตอนการผลิต
ปัจจุบันแผนกวิชาเทคโนโลยีโพลิเมอร์ ภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม ยังได้ให้บริการให้
คำปรึกษาแก่โรงงานอุตสาหกรรมยางทั่วไป ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งโรงงาน ขั้นตอนและวิธีการผลิต
ตลอดจนมีโครงการให้บริการทดสอบสมบัติฟิสิกส์ของยาง การวิจัยในเรื่องที่จำเป็นสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
ต่าง ๆ เป็นต้น
*****************
|