รายละเอียด :
|
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม
2531 โดยกำหนดจัดตั้งขึ้น ณ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามนั้น
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2531 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ ช่อง 10 หาดใหญ่ ได้จัด
รายการ "สนทนาแนะนำวิทยาลัยอิสลามศึกษา" แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 10 หาดใหญ่ โดยมีผู้ร่วมสนทนาประกอบ
ด้วย อาจารย์ปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, อาจารย์รอหีม นิยมเดชา
ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา, นายอุมาร์ ตอยิบ ดาโต๊ะยุติธรรมประจำจังหวัดนราธิวาส และนางสุวรรณา ผาติดำรงกุล
ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นพิธีกร
ข่าวศรีตรัง จึงได้นำบทสนทนาที่ออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 10 หาดใหญ่ มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง
เพื่อผู้ที่ไม่ได้ชมรายการในวัน เวลาดังกล่าว จะได้รับทราบเนื้อหาและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
พิธีกร สวัสดีค่ะท่านผู้ชม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 10
หาดใหญ่ เพื่อแนะนำหน่วยงานซึ่งได้ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นที่
น่ายินดีของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคนและผู้ที่สนใจจะศึกษาเรื่องศาสนาอิสลาม หน่วยงานนั้นก็คือวิทยาลัย
อิสลามศึกษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2531 ให้จัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ค่ะ
ในตอนแรกนี้ใคร่ขอแนะนำท่านให้รู้จักกับผู้ร่วมสนทนาคือท่านแรก อาจารย์ปัญญ์ ยวนแหล รองอธิการบดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, อาจารย์รอหีม นิยมเดชา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้ง
วิทยาลัยอิสลามศึกษา และคุณอุมาร์ ตอยิบ ดาโต๊ะยุติธรรมประจำจังหวัดนราธิวาส
เพื่อให้ท่านผู้ชมได้เข้าใจถึงความเป็นมาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ใคร่ขอเรียนถามท่านรองอธิการบดีได้เล่าถึง
ความเป็นมา นโยบาย และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาด้วยค่ะ
รองอธิการบดี ขอบคุณครับ ความเป็นมาหรือมูลเหตุที่จัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี สืบเนื่องมาจากความพยายามในอันจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคงของชาติซึ่งจัด
เป็นพื้นที่พิเศษที่รัฐบาลได้ให้ความสนใจมาตลอด ได้มีกำหนดเป้าหมายและนโยบายเฉพาะพื้นที่อย่างชัดเจน
โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เสนอเป้าหมายและนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งก็ได้มีมติเห็นชอบและในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.
2525 - 2529) ได้กำหนดให้ "จัดตั้งศูนย์การศึกษาศาสนาอิสลาม" ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามทุกระดับจนถึงขั้นอุดมศึกษา
สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ได้ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามบทบาทและภาระหน้าที่หลัก
4 ประการของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นต้นมา โดยได้ดำเนินงานเกี่ยวกับสถาบันอิสลามศึกษา
ตั้งแต่ปี 2515 หากยังมิได้กระทำอย่างเป็นทางการ ได้ร่างหลักสูตรอิสลามศึกษาในขั้นแรกในรูปแบบแผนกวิชา
ขึ้นกับหน่วยวิชาปรัชญาและศาสนา ปัจจุบันได้เป็นภาควิชาปรัชญาและศาสนา สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคม
ศาสตร์
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษา ได้เสนอสภามหาวิทยาลัย
ทบวงมหาวิทยาลัย และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับเพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา ซึ่งก็
ได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นี้ โดยมีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และจะโอนแผนกวิชาอิสลามศึกษาจากคณะมนุษย์ฯ มาสังกัดวิทยาลัยอิสลามศึกษา
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา ก็พอสรุปได้ดังนี้ครับ
1. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม
2. เพื่อพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ให้สามารถดำเนินชีวิตอันมีคุณค่าแก่
บุคคลและสังคม
3. เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างชุมชนและสังคม
4. และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
พิธีกร ขอบคุณค่ะ ก็ได้ทราบเหตุผลของการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาแล้วนะคะ สำหรับเรื่องของปรัชญาการ
ดำเนินงานและตลอดจนภารกิจของวิทยาลัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ช่วยให้รายละเอียดด้วยค่ะ
ผู้อำนวยการ ตามที่ได้ทราบแล้วว่าวิทยาลัยอิสลามศึกษา จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนวิชาศาสนาอิสลาม เพื่อสนอง
ความต้องการของชุมชนมุสลิมในการศึกษาศาสนาระดับสูง โดยมีคุณภาพและมีมาตรฐานเพื่อเป็นทางเลือก
ให้นักเรียนมุสลิมที่จบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้ศึกษาต่อภายในประเทศในระดับอุดมศึกษา
โดย ก.พ. รับรองคุณวุฒิ
วิทยาลัยอิสลามศึกษา จะทำการฝึกอบรมและผลิตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านอิสลาม
ศึกษา ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ตามแผนที่ได้กำหนดไว้
ในระดับปริญญาตรี วิทยาลัยจะรับโอนนักศึกษาจากแผนกวิชาอิสลามศึกษา ภาควิชาปรัชญาและ
ศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในปีการศึกษา 2532 และจะขยายหลักสูตรเพิ่มเติมสาขา
วิชาที่สอดคล้องต่อตลาดแรงงานและความต้องการของท้องถิ่น โดยจะเปิดสาขาชื่อ สาขาซารีอะฮฺ
(Islamic Law) สาขาอูซูลุดดีน (Theology) ดะวะห์ (Da Wah) สาขาประวัติและอารยธรรม
อิสลาม (History & Civilization) จนถึงขั้นปริญญาโทและปริญญาเอก เมื่อมีความพร้อมต่อไปครับ
พิธีกร ขอบคุณค่ะ ขอเรียนถามผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษาอีกสักข้อนะคะ เท่าที่ทราบวิทยาลัยอิสลาม
ศึกษา มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย การรับนักศึกษาจะเหมือนกับการเข้าศึกษาในคณะต่าง ๆ
ของมหาวิทยาลัยมั้ยคะ และในเรื่องของตลาดแรงงานด้วยค่ะ
ผู้อำนวยการ ขอบคุณครับ การรับนักศึกษาเข้าเรียนอิสลามศึกษาก็เหมือนกับการรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทุก
ประการ นอกจากนักศึกษาที่จะเรียนวิชาเอกอิสลามศึกษา จะต้องเลือกสอบวิชาภาษาอาหรับด้วย
ส่วนตลาดแรงงาน นักศึกษาที่จบจากสาขาต่าง ๆ สายศิลปศาสตร์จะหลีกเลี่ยงจากการว่างงานนั้น
ดูเหมือนว่าจะยากลำบากพอสมควรในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่านักศึกษาที่จบจากแผนกวิชา
อิสลามศึกษา จะประสบอยู่บ้างในประเด็นดังกล่าว แต่ก็ยังมีผลกระทบน้อยมากกล่าวคือ นักศึกษาที่จบจาก
สาขานี้มีความสามารถเท่าเทียบกับที่จบจากสาขาอื่น ๆ สายศิลปศาสตร์ในการสอบแข่งขันเข้ารับราชการ
จะเห็นได้จากการสอบแข่งขันเข้ารับราชการครูของ สปช. เมื่อปี พ.ศ. 2530 มีนักศึกษาที่จบวิชาเอกอิสลาม
ศึกษาเข้าสอบ 6 คน ปรากฏว่าได้รับการคัดเลือก 2 คน
ตลาดแรงงานของนักศึกษากลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ (วิทยากร) สอนวิชาอิสลามศึกษาอยู่
ตามโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของรัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งเป็นครูสอนตามโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
อิสลามทั้งเขตการศึกษา 2 และ 3 ตามที่ได้รับทราบข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นว่านักศึกษาที่จบอิสลามศึกษาจาก มอ. เป็นที่ต้องการของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
อยู่มากพอสมควร ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจารย์พวกนี้สามารถที่จะสอนได้ทั้งสายสามัญและศาสนาควบคู่กันไป
และที่ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถที่จะทำตัวให้เข้ากับนักเรียนได้ดี เนื่องจากมีประสบการณ์และมีความคุ้นเคย
กับนักเรียนประเภทนี้มาก่อน
และยังมีนักศึกษาที่จบวิชาเอกอิสลามศึกษาไปต่อปริญญาโทต่างประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซีย
ปากีสถาน และซาอุดิอารเบีย เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งออกไปประกอบอาชีพอิสระ โดยแก่นแท้แล้วนักศึกษา
กลุ่มนี้ไม่ได้มุ่งหวังอย่างจริงจังว่าเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว จะมุ่งมั่นแต่รับราชการแต่อย่างเดียว แต่ส่วน
มากพวกเขาเข้าศึกษาเพื่อที่จะยกระดับความรู้มากกว่า ส่วนงานรับราชการนั้น พวกเราถือว่าเป็นผลพลอยได้
เท่านั้น เมื่อมีวิชาความรู้แล้วจะไปประกอบอาชีพอะไรก็ได้
ฉะนั้นนักศึกษาที่จบอิสลามศึกษานั้น ไม่น่าจะเป็นห่วงอะไรมากนักว่า เมื่อจบไปแล้วพวกเขาจะไป
ประกอบอาชีพอะไร จุดประสงค์ที่สำคัญในการศึกษาของพวกเขาก็คือ ศึกษาเพื่อให้มีความรู้และเป็นผู้ที่
สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ให้สามารถดำเนินชีวิตอันมีคุณค่าแก่บุคคลและสังคมส่วนรวม
พิธีกร ขอบคุณค่ะ นับเป็นโอกาสอันดีของชาวไทยมุสลิมและผู้สนใจที่จะมีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
และค้นคว้าทางด้านศาสนาอิสลามนะคะ ดิฉันใคร่ขอเรียนถามคุณอุมาร์ ตอยิบ ดาโต๊ะยุติธรรมประจำ
จังหวัดนราธิวาส ว่ามีความรู้สึกหรือคิดเห็นอย่างไรในการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาค่ะ
ดาโต๊ะยุติธรรม ชาวไทยมุสลิมรู้สึกดีใจมากที่รัฐบาลได้อนุมัติตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา ก็เห็นว่ารัฐบาลจริงใจพร้อมที่จะให้
ความร่วมมือในการพัฒนา
นักเรียนที่จบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จะได้มีสถานศึกษาระดับสูง ซึ่งในอนาคตการ
ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศตะวันออก
กลางแล้ว นักเรียนเหล่านั้นก็มีทางเลือกที่จะศึกษาต่อภายในประเทศ แทนที่จะต้องขวนขวายไปศึกษาต่อ
ในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยใช่เหตุ ทั้งนี้เนื่องจากมีวิทยาลัย
อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันระดับสูงในด้านนี้ให้เข้าศึกษา
ต่อแล้ว
คงทราบแล้วว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา
และสตูล ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจน
ภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ทำให้ภูมิภาคนี้แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ
สภาพสังคมดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ
เข้าช่วย มิฉะนั้นแล้วจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาและนำไปสู่ปัญหาด้านสังคม จิตวิทยา และปัญหาความ
มั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องกระทำพร้อมกันไปทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตร
ฐานการพัฒนาการศึกษา ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาระยะยาว
การจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงเป็นสิ่งที่ดี
และเป็นวิธีการตรงตามหลักของการ "พัฒนาชุมชน" เพราะเป้าหมายการพัฒนาถือว่าเป็นการพัฒนาคน
เป็นเป้าหมายสุดยอด
วิทยาลัยอิสลามศึกษาที่จัดตั้งขึ้นก็มีหน้าที่พัฒนาคนโดยตรง รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมคน
โดยตรงและโดยอ้อม ทั้งจะเป็นหน่วยประสานความร่วมมือด้านวิชาการทางศาสนา วัฒนธรรม และอื่น ๆ
ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับองค์กรในภาครัฐบาลและเอกชนภายในและต่างประเทศ และจะ
เป็นแหล่งของความรู้ทางศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับแก่ภาครัฐบาลและเอกชน ในการติดต่อสัมพันธ์กับ
ประเทศมุสลิมด้วย
พิธีกร ท่านผู้ชมคะ เป็นที่น่ายินดีนะคะที่ได้ทราบว่าวิทยาลัยอิสลามศึกษา ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้
จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้าด้านศาสนาอิสลามต่อไป ก่อนจบรายการ
ท่านรองอธิการบดีมีอะไรจะฝากถึงท่านผู้ชมบ้างคะ
รองอธิการบดี ขอบคุณครับ ผมก็อยากจะเสริมที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษาได้พูดไปแล้วว่า นักศึกษาที่จบจากสาขา
นี้มีความสามารถเท่ากับที่จบสาขาอื่น ๆ ในสายศิลปศาสตร์ เพราะในการศึกษา 4 ปีนั้น นักศึกษาจะต้อง
ลงวิชาเรียนทั้งหมดอย่างน้อย 145 หน่วยกิต โดยจะลงเรียนวิชาเอกอิสลามศึกษา 50 - 62 หน่วยกิต
นอกนั้นจะเป็นวิชาโท วิชาพื้นฐาน และวิชาเลือก เหมือนกับการเลือกวิชาเอกอื่น ๆ
ขณะนี้มหาวิทยาลัยก็รอพระราชกฤษฎีกาที่จะประกาศออกมา และจะดำเนินงานในส่วนของมหาวิทยาลัย
ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ครับ
พิธีกร ดิฉันก็ขอขอบพระคุณผู้ร่วมสนทนาทุกท่านและสถานีโทรทัศน์ ช่อง 10 หาดใหญ่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
ที่ได้ให้เกียรติร่วมรายการครั้งนี้ สวัสดีค่ะ
*******************
|